สำหรับผู้ใช้งานโน๊ตบุ๊คไม่ว่าจะมือเก่ามือใหม่ ก็คงจะมีความเชื่อหลายๆอย่างที่รู้เองบ้าง อ่านเจอมาบ้าง หรือคนใกล้ชิดบอกมาบ้าง ซึ่งบางอย่างก็ดีสามารถนำเอามาใช้ได้ แต่บางอันนี่ก็เป็นอะไรที่ดูแล้วไม่น่าเชื่อถือเลย วันนี้ผมเลยจะขอมาแนะนำความเข้าใจผิดๆ ของผู้ใช้งานโน๊ตบุ๊คที่มักจะได้เจอได้ยินกันบ่อยๆ
1.โน๊ตบุ๊คเปลี่ยนการ์ดจอได้ (ซะที่ไหนละ)
สรุปสั้นๆเลยโน๊ตบุ๊คส่วนใหญ่ไม่สามารถเปลี่ยนการ์ดได้ (ราวๆ 95% ในท้องตลาด) แม้จะบอกว่าเป็นชิปการ์ดจอแยก AMD NVIDIA ก็ตามแต่ แต่ด้วยกระบวนการผลิตจึงต้องติดตั้งถาวรบนเมนบอร์ดโดยการบัดกรี ทำให้ไม่สามารถถอดออกมาได้ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่ถ้าการ์ดจอเสียก็ต้องเปลี่ยนเมนบอร์ดใหม่หมด ไม่สามารถเปลี่ยนเฉพาะการ์ดจอได้นะครับ
แต่ก็มีบ้างรุ่นที่เป็นการ์ดจอแบบ MXM ซึ่งจะสามารถถอดออกมาได้เหมือนการ์ดจอบนเครื่องพีซีเลย แต่เครื่องลักษณะนี้จะหนาเป็นพิเศษ และส่วนใหญ่โน๊ตบุ๊คที่ผลิตในปัจจุบันแทบไม่ใช้การ์ดจอแบบ MXM แล้ว อีกแบบคือการใช้เครื่องถอดชิปการ์ดจอออกมาเปลี่ยน ซึ่งไม่คุ้มค่าและก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถใช้งานได้นานนัก เหมาะกับการซ่อมโน๊ตบุ๊คที่หมดประกันไปแล้วมากกว่า
2.ต่อ adapter ถอดแบตออกยืดอายุแบตเตอรี่
เป็นความเชื่อที่ไม่ผิดและก็ไม่ถูกเสียทีเดียวกับการถอดแบตเตอรี่ออกระหว่างต่อไฟใช้จาก adapter ซึ่งมันก็ช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ได้บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับรักษาแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้เหมือนใหม่ แค่ตัวนับรอบชาร์ตจะน้อยกว่าใช้งานแบตเตอรี่ตลอด เมื่อก่อนอาจจะช่วยได้เยอะครับเพราะเวลาต่อ adapter จะชาร์ตไฟตลอด แต่ปัจจุบันด้วยความซับซ้อนของวงจรตัวใหม่จะชาร์ตเมื่อแบตเตอรี่ลดลงไปเท่านั้น โดยจะใช้ไฟจากปลั๊กหรือ adapter ก่อนเป็นหลัก จึงทำให้แบตเตอรี่เสื่อมน้อยลงกว่าโน๊ตบุ๊ครุ่นเก่าๆมาก
และที่สำคัญคือแบตเตอรี่จะทำหน้าที่เป็นตัวกรองไฟและสำรองไฟไปในตัว กรณีเกิดไฟดับแบตเตอรี่ก็สามารถให้พลังงานต่อได้เลย และกรณีไฟกระชากไฟเกิน แบตเตอรี่ก็จะเป็นตัวช่วยกันให้ด้วย เต็มที่ก็แค่แบตเตอรี่เสีย โดยไม่ส่งผลต่ออุปกรณ์อื่น โน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆจึงติดตั้งแบตเตอรี่ภายในที่ไม่สามารถแกะได้เองเพื่อกรณีเหล่านี้ด้วยครับ
3.โน๊ตบุ๊คใช้งานนานๆ ไม่ได้
หลายๆท่านมองว่าโน๊ตบุ๊คบางและมีขนาดเล็กทำให้ไม่สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ยาวนานได้ ยิ่งใช้งานนานเครื่องจะยิ่งเสียและเสื่อมเร็ว ซึ่งความเป็นจริงจากความคิดนี้มาจากโน๊ตบุ๊คเมื่อหลายปีก่อนที่มีความร้อนสูง ไม่สามารถระบายความร้อนต่อเนื่องได้ดีนัก จึงไม่แนะนำให้ใช้งานนานๆเท่าไร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีไปไกลมากทำให้โน๊ตบุ๊คใช้งานได้ยาวนานต่อเนื่องโดยไม่แฮงค์หรือเสื่อมก่อนวัยอันควร ทั้งระบบระบายความร้อนและตัวฮาร์ดแวร์เองก็ออกแบบให้ใช้งานได้นานไม่แพ้เครื่องพีซีไซท์ใหญ่เลยครับ ใช้งานต่อเนื่องได้สบายๆ ไร้กังวล
อีกทั้งผู้ผลิตเองก็สนับสนุนให้ใช้งานได้นานๆเหมือนกันด้วยแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานขึ้นระดับ 7 – 10 ชั่วโมงสบายๆ ในอัลตร้าบุ๊ค เพราะฉะนั้นใช้ไปเถอะครับไม่ต้องห่วง
4.AMD ร้อน
อันนี้เป็นปัญหาระดับโลกไม่เฉพาะในโน๊ตบุ๊คหรอกครับ ฝั่งผู้ใช้พีซีเองก็มักจะมีพูดกันว่า AMD ร้อน ซึ่งเป็นความจริงอยู่หรอก แต่ก็เมื่อหลายๆๆๆๆๆปีมาแล้ว ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นสมัย AMD Duron ยุคนั้นต้องยอมรับว่าร้อนแต่ก็แรงมากเช่นกัน จนผู้ใช้งานพูดกันติดปากว่า ดูร้อน แต่ AMD เองก็ได้พัฒนาขึ้นมามากนะครับ มีทั้งลดความแรงลงเพื่อลดความร้อน หรือรุ่นใหม่ๆที่พัฒนามาให้สามารถติดตั้งในโน๊ตบุ๊คได้โดยใช้แค่ชุดระบายความร้อนเดิมๆระบายความร้อนได้สบายๆ พร้อมการ์ดจอแยกแรงกว่าคู่แข่งในราคาที่ถูกกว่า
โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่อย่าง Ryzen นี่อย่างแรงและยังเย็นขึ้นกว่ารุ่นก่อนไปอีกนะครับ เหลือแค่เมื่อไรจะมาลงบนโน๊ตบุ๊คนี่ละครับ น่าจะทำให้ตลาดโน๊ตบุ๊คคึกคักอีกครั้งเพราะตอนนี้อะไรก็มีแต่โน๊ตบุ๊ค intel
5.แบรนด์นั้นกาก แบรนด์นี้ไม่ดี
สุดท้ายปัญหาโลกแตกของผู้ที่ใช้งานโน๊ตบุ๊คหรือจะซื้อโน๊ตบุ๊คใหม่สักเครื่อง ก็มักจะมีคนรอบข้างว่าแบรนด์นั้นไม่ดี แบรนด์นี้ไม่ดี อย่าซื้อเลยยี่ห้อนั้น โน้นนี่นั่นมากมาย ผมเองก็เจอประจำเวลาแนะนำโน๊ตบุ๊คให้คนรู้จักสักคนก็จะมีละ เขาบอกแบรนด์นี้ไม่ดีอย่าเอาเลย (เขานี่ใครนะ) คือยังไม่ได้ค้นหาข้อมูลอะไรเลย แค่มีคนพูดต่อๆมา ผมไม่ได้บอกว่าทุกแบรนด์ทุกยี่ห้อดีหมด หรือบอกให้ไม่เชื่อคนอื่น แต่ทุกคนย่อมมีประสบการณ์ใช้งานที่ต่างกันนะครับ บางคนซื้อแบรนด์นี้มาใช้แล้วดีเขาก็อยากแนะนำคนอื่น แต่อีกคนซื้อแบรนด์นี้มาใช้เหมือนกันแต่เจอปัญหาก็ไม่อยากจะแนะนำต่อ
เราผู้ใช้งานก็ต้องฟังหูไว้หู หาข้อมูลวะก่อนว่ารุ่นที่เราจะซื้อ แบรนด์นี้เป็นอย่างไรบางมีคนบ่นอะไรไหม หรือมีปัญหาอะไรหรือเปล่า หาใน google นี่ละครับง่ายสุดเลย แล้วเอาข้อมูลมารวมกันว่าคุ้มไหมที่จะซื้อตัวนี้ เพราะบางทีมันก็เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ใช้เอง ไม่ได้มีปัญหามาจากการผลิต เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตัดสินสินเพียงเพราะลมปากจากคนอื่น แต่ให้หาข้อมูลด้วยตัวเองก่อนนะครับ
สุดท้ายหากใครเข้าใจถูกแล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วยตอนนี้คุณจัดว่าเป็นกูรูด้านไอทีแล้ว เสร็จแล้วก็แชร์บทความนี้ต่อให้ผู้ที่เข้าใจผิดๆ กันต่อไป