สำหรับท่านที่มีอายุอานามเยอะอย่างผม (รู้สึกแก่) ก็อาจจะเคยเห็นร้านขายอุปกรณ์ไอทีตามท้องถนน ร้านรวงต่างๆ ที่อยู่ตามห้างไอทีมากมาย ไม่ได้มีแค่ร้านใหญ่ชื่อดังอย่างในปัจจุบัน ทำให้อุปกรณ์ ราคามีความหลากหลายอย่างมาก เมื่อก่อนเวลามาซื้ออุปกรณ์อย่างพันทิป ต้องเดินสำรวจกันก่อน เข้าร้านนั้นออกร้านนี้ กว่าจะได้ของที่ถูกใจถูกราคา
แต่เดียวนี้เรียกว่าของชิ้นเดียว ซื้อร้านไหนก็ได้เหมือนๆกัน (ไม่นับสั่ง Online ได้อีกนะ) เดินเข้าร้านชื่อดังแล้วก็คิดตั้งซื้อได้เลย ผมว่ามันขาดเสน่ห์ของการซื้อของไอทีไปหน่อย ส่วนนึงก็มาจากการที่ร้านต่างๆขายราคาเท่าๆกันยิ่งของราคาไม่กี่บาทนี่อย่าหวังว่าจะได้ลดราคา และอีกส่วนคือมันไม่มีร้านให้เลือก ก็เพราะมีแต่ร้านชื่อดังๆ เท่านั้นละ
คนกรุงเทพอาจจะคุ้นเคยกับการไปเดินพันทิพย์เพื่อซื้ออุปกรณ์ไอที แต่ต่างจังหวัดหลายๆ ที่ไม่มีห้างไอทีใหญ่ๆนะครับ จะมีเพียงแต่ร้านที่เป็น ตึกแถวบ้าง อยู่ริมถนนบ้าง บางร้านก็ขยับขยายจนทำห้างเล็กๆ ประมาณ Lotus Express ได้ ซึ่งถ้าย้อนไปสัก 5-6 ปีก่อนนี่อย่างเยอะ เป็นเหมือนร้านประจำชุมชนประจำจังหวัดก็ว่าได้
ปัจจุบัน รู้หมือไร่ว่าร้านเหล่านี้หายไปเยอะมาก จากทั้งร้านใหญ่ไปเปิดสาขาแข่ง หรือการที่ผู้ซื้อหันไปซื้อ Online มากขึ้น ทำให้หลายๆร้านต้องจากไป ไม่ใช่แค่ร้านตามต่างจังหวัดนะครับ แต่ร้านใหญ่มีชื่อเสียงในกรุงเทพบางร้านที่มีหลายสาขาก็เริ่มล้มหายตายจากไปแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักๆที่ทำให้ร้านค้าเหล่านั้นหายไปได้แก่
ระบบ
ระบบถือเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ จากสมัยก่อนใช้การจดบันทึก ของเข้าของออกกว่าจะรู้บางทีก็สายเกินไปแล้ว ร้านใหญ่ๆจึงใช้ระบบเข้ามาเป็นผู้จัดการ ยิงบาร์โค้ท ของเข้าของออก แล้วใช้ระบบจัดการสต๊อคช่วยจัดการว่ามีของอะไรเข้า ราคาเท่าไร ขายออกเท่าไร ทำให้สามารถคำนวณเงินคงเหลือได้ด้วย
แต่หลายๆร้านแม้จะมีระบบ แต่ถ้าไม่ทำตามก็เท่านั้น ขายของแล้วเขียนบิลเงินสด ลูกค้าจ่ายมาก็เก็บเข้ากระเป๋าตัวเอง ของขายออกจริง แต่เงินไม่เข้าร้าน หรือเงินเข้า แต่เอาไปจ่ายอย่างอื่นทั้งที่ไม่อยู่ในระบบ ล้วนทำให้ร้านมีปัญหาทั้งนั้น แม้จะเป็นการลงทุนที่สูงในการนำเข้าระบบ การใช้ระบบและทำตามระบบจึงเป็นสิ่งสำคัญให้ธุรกิจเดินต่อไปได้
…
คอร์รัปชั่น
เป็นปัญหาที่ทุกองค์กรต้องเจอไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน รวมถึงร้านค้าต่างๆ คือการคอร์รัปชั่น ง่ายๆตั้งแต่การขโมยของ ขโมยเงิน ไปจนถึงวิธีการที่ซับซ้อนเช่นขายของออกไปแต่เงินไม่เข้าร้าน (แต่เข้ากระเป๋าพนักงานบางคน) ปัญหานี้สามารถพบเห็นได้บ่อยตั้งแต่ของราคาหลักสิบ ไปจนถึงของราคาหลายหมื่น และเมื่อทำครั้งแรกแล้วไม่ถูกจับได้หรือดำเนินคดี ก็มักจะมีครั้งที่ 2 3 ตามมา ยิ่งทำให้ปัญหามันใหญ่ขึ้น
ร้านส่วนใหญ่จึงมักจะเลือกแก้ปัญหาของ หรือเงินหายด้วยการหารตามจำนวนคนที่มีอยู่ในเวลานั้น ซึ่งความเป็นจริงมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า แม้จะเป็นวิธีหนึ่งที่ดูเหมือนจะดี เพราะจะได้ช่วยกันระวัง แต่คนขโมยมันขายได้เงินเองเต็มๆ ไม่กลัวแค่เรื่องหารเงินหรอก นานๆเข้าพนักงานก็ลาออก และสุดท้ายก็จับใครไม่ได้ การติดกล้อง และใช้ระบบเข้ามาตรวจเช็คจึงเป็นวิธีที่จะช่วยได้ดีกว่า และที่สำคัญคือการปลูกฝั่งความเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งในร้าน
…
คน และระบบครอบครัว
ร้านค้าส่วนใหญ่มักจะใช้ระบบครอบครัวมาบริหารงานในร้าน ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่าความเกรงใจ แม้อาจจะมีพนักงานที่มีไอเดีย หรือต้องการติติง ก็มักจะรู้สึกเกรงใจจนไม่กล้าพูดมันออกไป สุดท้าย ความเกรงใจนี่ละจะทำให้ระบบล่มลงไป การบริหารที่ดีจึงไม่ควรใช้คนในครอบครัวทั้งหมดแต่ควรมีคนนอกมาช่วยทั้งจากความสามารถของเขา และความเป็นธุรกิจที่จะได้แนะนำแบบไม่ต้องเกรงใจกัน
…
ร้านขนาดใหญ่
ด้วยพลังของร้านใหญ่ๆ ก็มักจะกดดันให้ผู้ผลิต ส่งของให้ตัวเองก่อน หรือต้องทำราคารุ่นพิเศษให้ร้านตัวเองเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่มีผู้ซื้อสนใจอยู่แล้ว ยิ่งเข้าร้านใหญ่ทำให้หาซื้อง่าย แล้วร้านเล็กๆกว่าจะได้ของพวกนี้ก็มักผ่านไปสักพัก ที่ไม่มีคนซื้อสนใจแล้ว หรืออาจจะได้มาพร้อมกันในราคาแพงกว่าเพราะซื้อจำนวนน้อยกว่า ก็ทำให้ขายได้ยาก แม้แบรนด์ผู้ผลิตต่างๆจะพยายามทำรุ่นสเปคพิเศษสำหรับขายร้านต่างจังหวัดหรือร้านเล็กๆ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากเพราะรุ่นดีๆยอดฮิตก็มักจะอยู่ตามร้านใหญ่ๆหมดแล้วละครับ
…
สายป่าน
ไม่ใช่ดารานะ แต่ก็คือเงินนั่นเอง ซึ่งปรกติธุรกิจก็ต้องลงทุนซื้อของมาเก็บไว้สำหรับขาย ทำให้เงินจมไปกับสต๊อคไม่น้อย แม้ไทยจะมีระบบพ่อค้าคนกลางหรือ disty แต่ในความเป็นจริงก็แทบไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะการจะซื้อของสักชิ้นก็ต้องออเดอร์ไว้ก่อน ถ้าไม่ออเดอร์ก็ไม่มีของส่งให้ร้านขาย ไม่สามารถทำแบบว่ารอคนซื้อจองของแล้วค่อยสั่ง ยิ่งถ้าไม่ได้สั่งไว้ก่อนก็มักจะโดนร้านอื่นๆตัดหน้าสั่งไปขายก่อน และเมื่อสต๊อคของไว้ แล้วขายออกได้ช้า ก็ทำให้เงินจม ไหนจะเงินเดือนพนักงาน ไหนจะค่าร้าน น้ำ ไฟ หมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องติดหนี้ทั้งธนาคารหรือ disty เอง สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการปิดตัวลง พนักงานตกงาน (แต่บางเคสเจ้าของกลับล้มบนฟูกก็มีอยู่) การบริการสต๊อคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มากไปไม่น้อยไป และที่สำคัญคือเงินสำรอง ทำให้ปัจจุบันแทบไม่มีร้านใหม่ๆเข้ามาในตลาดเลย ลองนึกง่ายๆว่าร้านนึงมีโน๊ตบุ๊คสัก 20 เครื่อง เครื่องละ 20,000 บาท (+- ราคาเครื่องนิดหน่อย) ต้องใช้เงินเท่าไรละครับ ไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกนะที่ต้องมีรวมๆทั้งหมดอย่างน้อยๆ 400,000 – 500,000 บาท (ต่อสาขา)
…
ไม่เป็นที่รู้จัก
อีกส่วนนึงก็คือพฤติกรรมของคนไทย (รวมทั้งตัวผมด้วย) คือมักจะซื้อของจากร้านชื่อดังเป็นที่รู้จักเท่านั้น ด้วยความคิดที่ว่าร้านดังๆน่าเชื่อถือ ซื้อแล้วไม่ปิดหายไปแน่นอน ทำให้ร้านใหญ่ๆจึงมักโปรโมทตามทีวี หรือช่องทาง online ต่างๆ ซึ่งความเป็นจริง ไม่ว่าเราจะซื้อร้านเล็กร้านใหญ่ก็แทบไม่ต่างกัน เพราะเวลาซ่อมหรือเคลมก็ต้องไปเคลมกับผู้ผลิตอยู่ดี ร้านมีหน้าที่แค่ขายเท่านั้น (อาจจะมีเคลมของ 7 วัน กับสินค้าบางตัว) ยกเว้นบางตัวที่ร้านนำมาขายเองหรืออุปกรณ์บางอย่างที่เฉพาะทางจริงๆ
แต่ด้วยความไม่เป็นที่รู้จัก หรือร้านที่ไม่ใหญ่มาก จากประสบการที่เคยเจอส่วนใหญ่พนักงานจะบริการดีมาก บางร้านเจ้าของลงมาดู หรือมาขายเองเลย ทำให้ได้รับบริการที่ดีประทับใจ เพราะถ้าบริการไม่ดี โดนบ่นโดนด่านี่ โอกาสที่คนซื้อจะกลับมาซื้ออีกน้อยมาก และยิ่งบริการดี ก็จะทำให้มีการแนะนำปากต่อปากมากยิ่งขึ้น คนไทยแม้จะชอบของถูก แต่ก็ยอมจ่ายแพงได้ถ้าได้รับบริการที่ดีกว่านะครับ
…
ผู้ใช้ทั่วไปอาจจะมองว่าร้านที่หายไปแล้วมีผลกระทบอะไรละ เพราะซื้อร้านไหนก็เหมือนกัน ผมเลยสรุปสั้นๆให้ว่า
- ขาดการแข่งขัน ยิ่งมีร้านเยอะการแข่งขันทั้งการบริการและราคา ก็จะเกิดการแข็งขันที่มากขึ้นตามไปด้วย
- ผู้ซื้อมีสิทธิ์เลือก เราอาจจะไม่ได้เลือกจากของถูก แต่เลือกจากการบริการที่ดี แล้วถ้าไม่มีคู่แข่ง พนักงานก็จะไม่เน้นการบริการหรือราคาเพราะคิดว่ายังไงเดี๋ยวลูกค้าก็กลับมาซื้อ
- ผู้ผลิตมีตัวเลือกสำหรับการขาย บอกเลยว่ายิ่งร้านใหญ่ก็มีการเล่นตัวเยอะ ขอราคา ขอโปรโมชั่น ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถทำราคาหรือโปรโมชั่นแบบที่ต้องการได้ เพราะต้องเอากำไรไปบริการให้ลูกค้ารายใหญ่
สุดท้ายร้านที่หายไปส่วนใหญ่ก็มาจากตัวเองมากกว่าที่จะโดนร้านอื่นๆกดดัน ถ้าปรับตัวไม่ทันก็อาจจะต้องเลิกกิจการไป และแน่นอนว่าเราอาจจะไม่สามารถไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่อย่างน้อยก็จะได้เข้าใจกลไกของตลาดมากขึ้น และเพิ่มอำนาจต่อรองให้เราเองได้ และถ้าจะไม่ขอมากเกินไป อย่างน้อยเวลาซื้อสินค้าไอทีสักชิ้น ลองดูร้านเล็กๆใกล้บ้าน หรือห้องเล็กๆในห้าง คุณอาจจะได้ของที่ชื่นชอบ ในราคาที่ถูกใจ แถมยังช่วยสนับสนุนร้านค้าอื่นๆอีกด้วยครับ
ปล.ถ้าเพื่อนๆ มีร้านไหนประทับใจ หรือเสียดายร้านไหนที่จากเราไปก็มาบอกกันได้ครับ