เป็นเรื่องที่ทางฝั่ง Google พยายามพลักดันมาอย่างเนิ่นนานมากเลยครับกับการที่จะเรียกให้บรรดาเปล่านักพัฒนาแอปพลิเคชันนั้นหันมาพัฒนาแอปพลิเคชันลงให้กับ Play Store สำหรับ Android ของทาง Google ก่อน เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นกันสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ว่าจะได้ใช้แอปพลิเคชันนั้นก่อนใครๆ เท่านั้นแต่มันยังเป็นการเพิ่มโอกาศและปริมาณแอปพลิเคชันที่มีคุณภาพเข้าไปสู่ระบบด้วย
ทว่าอย่างไรก็ตามแต่แล้วตั้งแต่มี Play Store มาจนถึงปัจจุบันนั้นสิ่งที่เราได้เห็นกันจากความพยายามผลักดันของทาง Google นั้นก็คือการที่ผู้พัฒนาทำการพัฒนาแอปพลิชันให้กับระบบปฎิบัติการ Android และ iOS ไปพร้อมๆ กันเท่านั้น น้อยมากครับที่นักพัฒนาจะทำการพัฒนาแอปพลิเคชันลงระบบปฎิบัติการ iOS เป็นหลัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น วันนี้เรามีเหตุผลที่ส่งตรงจากผู้พัฒนาจำนวน 5 รายมาให้ทุกท่านได้พิจารณากันโดยการสัมภาษณ์ของทาง The Next Web ครับ
นักพัฒนาแอปพลิเคชันรายที่ 1 : สำหรับนักพัฒนารายแรกนั้นบอกเอาไว้เลยครับว่าแอปพลิเคชันของเขานั้นจะถูกพัฒนาให้กับระบบปฎิบัติการ iOS ก่อนเท่านั้น(เน้นไปที่ iPhone เป็นหลัก) และจะถูกพัฒนาเวอร์ชันระบบปฎิบัติการ Android ก็ต่อเมื่อเขาเห็นสิ่งดึงดูดที่มีนัยยสำคัญเท่านั้น โดยเขาได้ให้เหตุผลหลักให้การพัฒนาแอปพลิเคชันให้เฉพาะกับ iPhone ก่อนไว้ 2 ข้อด้วยกันคือ
- ข้อจำกัดทางด้านเทคนิคทางด้านภาษาที่ใช้เขียนแอปพลิเคชันบน iOS หรือ Swift และ Objective-C นั้นมี third-party libraries ที่มีประสิทธิภาพถูกปล่อยออกมามากมายเมื่อเทียบกับการต้องเขียน Java สำหรับ Android(ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการนักพัฒนาโปรแกรมครับว่าภาษา Java นั้นค่อนข้างที่จะยากและไม่ค่อยมีคนชอบมากเท่าไรรวมถึงยังมีเครื่องมือในการเขียนค่อนข้างน้อยด้วย) และส่วนใหญ่แล้วนักพัฒนามักจะทำการพัฒนาแอปพลิเคชันลง Android ด้วยเมื่อพวกเขาโดนบังคับให้ทำครับ
- ในข้อที่ 2 นั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาแอปพลิเคชันครับ โดยนักพัฒนารายนี้ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่าผู้คนที่มี iPhone ซึ่งอยู่ในช่วงวัย 20 ปีหรือช่วงวัยรุ่นนั้นจะซื้อ iPhone 6s Plus หรือมี iPhone เอาไว้ในมือเพราะว่าพวกเขาต้องการที่จะมีมัน แถมการมี iPhone อยู่ในมือพวกเขานั้นยังเป็นการยกฐานะทางสังคมของพวกเขาให้ดูสูงขึ้นจากเดิมด้วยราคาของ iPhone ที่แพงอยู่แล้ว(ซึ่ง iPhone นั้นทำให้พวกเขาเสมือนกับใช้กระเป๋าแบรนด์ดังหรือขับรถยี่ห้อหรู) ในทางกลับกันแล้วนั้นเมื่อเขาได้ลองคุยกับผู้ใช้สมาร์ทโฟน Android ที่เป็นวัยรุ่นนั้น เวลาที่เขาถามวัยรุ่นเหล่านั้นว่าทำไมถึงใช้สมาร์ทโฟนระบบปฎิบัติการ Android คำตอบที่เขาได้รับนั้นก็จะเป็นเพราะว่าสมาร์ทโฟนระบบปฎิบัติการ Android มีราคาถูกหรือไม่ก็ฟรี แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นมีเป้าหมายที่อยากจะได้ iPhone มาใช้งานมากกว่าครับ(และผู้ใช้กลุ่มนี้จะมีความพยายามในการเก็บเงินสัก 1 – 2 ปีเพื่อที่จะซื้อ iPhone มาใช้งานด้วย)
ดังนั้นแล้วด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้นักพัฒนาแอปพลิเคชันรายที่หนึ่งนี้จึงเลือกพัฒนาแอปพลิเคชันลง iOS เพื่อที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง(ตามที่เขาต้องการ) ซึ่งนั่นก็คือกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อมากกว่านั่นเองครับ
นักพัฒนาแอปพลิเคชันรายที่ 2 : สำหรับนักพัฒนารายที่ 2 นั้นได้บอกเอาไว้ครับว่าส่วนตัวเขาแล้วนั้นค่อนข้างจะเป็นคนที่กว้างขวางในเรื่องของการใช้ภาษาโปรแกรมในการเขียนโปรแกรมทำให้ตัวเขาเองนั้นไม่มีปัญหาทางด้านเทคนิคเมื่อต้องเขียนโปรแกรมกับภาษาใดภาษาหนึ่งเท่าไรนัก โดยถึงแม้ว่า Xcode ของทาง Apple นั้นจะมี bug อยู่มากมาย(เหมือนขุมนรก) ก็ตามแต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหากับเขาเท่าไรกลับกันแล้วเขายังสามารถที่จะทำงานไปได้ดีกับเจ้าภาษาโปรแกรมเจ้าปัญหาตัวนี้อยู่ดี
นักพัฒนารายที่ 2 ได้บอกต่อครับว่าในบริษัทของเขานั้นได้ทำงานหลายอย่างที่เกี่ยวกับทางด้านองค์กรไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซึ่งในงานเกือบทั้งหมดนั้นมีน้อยมากจริงๆ ที่จะทำขึ้นมาเพื่อ Android โดยเฉพาะ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบริษัทของนักพัฒนารายนี้นั้นทำงานภายใต้สัญญา(สัญญาในรูปแบบระยะสั้นเช่นสัญญาแบบงานต่องาน) และต้นทุนในการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฎิบัติการ Android นั้นก็มากกว่า iOS แน่นอนหล่ะครับว่าลูกค้าส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกให้ทางบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันลงระบบปฎิบัติการที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าอยู่แล้ว(ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าของบริษัทของนักพัฒนารายนี้จะเลือกเป็นเว็บไซต์และ 3 ใน 4 นั้นก็ต้องการที่จะได้แอปพลิเคชันบนระบบปฎิบัติการ iOS มากกว่า)
นักพัฒนารายที่ 2 นั้นยังได้บอกครับว่าเมื่อมีงานพัฒนาแอปพลิชันบน Android เข้ามาในบริษัทนั้น ตัวเขาเองจะต้องทำงานมากกว่าเพื่อนร่วมงาน สาเหตุก็เนื่องมาจากว่าตัวของเขานั้นรู้เรื่องต่างๆ ของการพัฒนาแอปพลิเคชันบนระบบปฎิบัติการ Android มากกว่าเพื่อนร่วมงานของเขาซึ่งตัวเขาก็ไม่ได้ซีเรียสในเรื่องนี้เท่าไรนัก(ตรงจุดนี้ทำให้เห็นได้ว่าในบรรดานักพัฒนาส่วนใหญ่นั้นยังมีนักพัฒนาที่มีความรู้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันโดยตรงให้กับระบบปฎิบัติการ Android ค่อนข้างที่จะน้อยครับ)
ท้ายที่สุดแล้วถ้าให้นักพัฒนารายนี้เลือกว่าต้องพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับระบบปฎิบัติการอะไรดีระหว่าง Android และ iOS(ถ้าหากเขาต้องลงทุนเอง) เขาตอบอย่างไม่ต้องคิดมากมายเลยครับว่าตัวเขานั้นจะไม่เลือกเสียแรงและทุนไปกับการพัฒนาแอปพลิเคชันไปกับระบบปฎิบัติการ Android อย่างแน่นอนแถมตัวเขาเองนั้นก็ไม่คิดอยากที่จะสนับสนุนมันอีกด้วยหล่ะครับ
นักพัฒนาแอปพลิเคชันรายที่ 3 : ต่อกันที่นักพัฒนารายที่ 3 ที่บอกเอาไว้ครับว่าตัวเขาเองนั้นมีเหตุผลอยู่ 2 ประการที่เลือกพัฒนาแอปพลิเคชันลงระบบปฎิบัติการ iOS มากกว่า Android ซึ่งนั่นก็คือ “เวลา” และ “ผลตอบแทน” ครับ
- สำหรับเรื่องของเวลานั้นนักพัฒนารายนี้ได้บอกเอาไว้ครับว่าเขาไม่มีเวลามากพอที่จะใช้เพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรม, IDE ฯลฯ แถมที่หนักไปกว่านั้นก็คือถ้าเลือกที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับระบบปฎิบัติการ Android แล้วหล่ะก็จะต้องทำใจใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเรื่องของการกระจายตัวของฮาร์ดแวร์(fragmentation) ที่เป็นปัญหาของระบบปฎิบัติการ Android มาโดยตลอด การที่จะทำให้แอปพลิเคชันสามารถรันได้ดีบนทุกเครื่องที่ใช้ระบบปฎิบัติการ Android นั้นถือว่ายากมากและใช้เวลามากจนเกินไป
- ในเรื่องของผลตอบแทนนั้นก็คือเรื่องของรายได้จากการพัฒนาแอปพลิเคชันครับ เป็นที่รู้กันมานานแสนนานและมีการตรวจสอบรองรับกันมาโดยตลอดครับว่า App Store ของ iOS นั้นสามารถที่จะทำเงินได้มากกว่า Play Store ของทาง Android แถมระบบปฎิบัติการ Android นั้นก็ง่ายเกินไปสำหรับการที่จะใช้งานแอปพลิเคชันที่ต้องเสียเงินซื้อด้วยการใช้งานละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่ง ณ จุดนี้นั้นถึงแม้ว่า iOS จะสามารถทำได้เช่นเดียวกันแต่ทาง Apple ก็สามารถที่จะมีมาตรการในการป้องกันได้ดีกว่ามากครับ
สรุปแล้วนักพัฒนารายที่ 3 นี้จึงเลือกที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันลงระบบปฎิบัติการ iOS มากกว่าและยอมเสียเวลามากมายเพื่อทำให้แอปพลิเคชันของเขาบนระบบปฎิบัติการ iOS นั้นอัพเดทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการใช้เวลาดังกล่าวไปกับเรื่องนั้นมันก็ทำให้ตัวเขาเองไม่มีเวลาพอที่จะไปสนใจพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับระบบปฎิบัติการ Android แล้วครับ
นักพัฒนาแอปพลิเคชันรายที่ 4 : นักพัฒนารายที่ 4 นั้นบอกเอาไว้ครับว่าเขาเริ่มต้นการพัฒนาแอปพลิเคชันครั้งแรกบนเครื่องคิดเลขที่สามารถแสดงกราฟิกได้รุ่น TI-8X และนั่นทำให้ตัวเขาเองนั้นมีความสนใจที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง โดยอุปกรณ์ตัวที่ 2 ที่เขาทำการพัฒนาแอปพลิเคชันให้นั้นก็คือ T-mobile Sidekick ที่มาพร้อมกับระบบปฎิบัติการ infamous Danger OS(ตั้งแต่ปี 2002 ก่อนที่ในตอนหลังนั้น T-mobile Sidekick จะเปลี่ยนมาใช้ระบบปฎิบัติการ Android)
ตอนที่ iPhone เปิดตัวออกมานั้นทางนักพัฒนารายนี้มีประสบการณ์ในการพัฒนาแอปลพิเคชันให้กับ OS X อยู่แล้วครับ ซึ่งนั่นทำให้ iOS เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าถึงแม้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเขาจะได้ข่าวว่า Android กำลังใกล้จะออกมาในไม่ช้าก็ตาม การพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับ iOS นั้นให้ความรู้สึกเหมือนการพัฒนาแอปพลิเคชันลง OS X ซึ่งเขาบอกว่ามันทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันคือการสร้างแอปพลิเคชันจริงๆ ขึ้นมาครับ เมื่อเทียบกับ Android รุ่นแรกแล้วนั้นเขากลับพบว่ามันเหมือนเขาทำอะไรบางอย่างให้กับ “ขยะ” ซะงั้น(ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนี้อยู่ได้ไม่นานมากนักและมากจากการเปรียบเทียบ Android รุ่นแรกๆ กับ iOS 1 ครับ)
T-Mobile Sidekick
นักพัฒนารายที่ 4 นี้ได้ยกเรื่องของส่วนต่อประสาน(User Interface) ของระบบปฎิบัติการ iOS และ Android ในช่วงแรกออกมาเป็นเหตุผลที่ตัวเขาเองเลือกที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับ iOS เนื่องจากว่า iOS นั้นมาพร้อมกับสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาก ณ เวลานั้นไม่ว่าจะเป็น Pinch to zoom, Slide to unlock และ Pull to refresh ฯลฯ กลับกันแล้วนั้นส่วนต่อประสานของ Android ดูเหมือนกับไม่มีนวัตกรรมอะไรเท่าไรนักให้ตัวเขาได้เล่นได้ใช้งานและก็ไม่มีอะไรมากพอที่เขาจะทำเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความหลงใหลกับแอปพลิเคชันบน Android ในช่วงแรกๆ ได้ครับ
ด้วยความที่นักพัฒนารายที่ 4 นั้นใช้เวลาไปอย่างมากกับการศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีประสิทธิภาพให้กับระบบปฎิบัติการ iOS(ด้วยความที่ iOS ออกมาก่อนและมีอะไรน่าท้าทายมากกว่าสำหรับนักพัฒนารายนี้) เมื่อถามว่าจะให้นักพัฒนารายที่ 4 นี้กลับมาพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับระบบปฎิบัติการ Android เขาได้ตอบว่าเขาคงจะไม่ยอมเสียเวลาเพื่อที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ทั้งหมดอีกครั้งแล้วครับโดยถึงแม้ว่าในปัจจุบันนั้น Android จะพัฒนาไปมากมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้เล่นเยอะขึ้นใน APIs ก็ตามแต่เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งเขาก็คงเลือกที่จะยังอยู่กับ iOS มากกว่าอยู่ดี
นักพัฒนาแอปพลิเคชันรายที่ 5 : มาถึงนักพัฒนารายสุดท้ายกันแล้วที่เขาได้ให้เหตุผลเอาไว้ครับว่าเขาเลือกที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันบนระบบปฎิบัติการ iOS มากกว่า Android ก็เนื่องมาจากว่าระบบปฎิบัติการ iOS นั้นเป็นระบบปฎิบัติการหลักที่ตัวเขานั้นใช้อยู่เองครับ นอกเหนือไปจากนั้นแล้วแพลตฟอร์ม iOS นั้นยังเป็นแพลตฟอร์มที่เขาเป็นผู้พัฒนาระดับมืออาชีพในบริษัทที่เขาทำงานอยู่ด้วย ทำให้ส่วนตัวของเขาเองนั้นมีประสบการณ์กับแพลตฟอร์ม iOS มากกว่าครับ
อย่างไรก็ตามแต่นักพัฒนารายสุดท้ายของเรานั้นแตกต่างไปจากนักพัฒนารายอื่นๆ ตรงที่เขาได้บอกเอาไว้ครับว่าเขามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้การพัฒนาแอปพลิชันสำหรับระบบปฎิบัติการ Android ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขาในการพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเขาเองลงระบบปฎิบัติการ Android ซึ่งเหตุผลหลักนั้นก็เพราะว่าตัวเขาคิดว่ามันจะดีกว่าถ้ามีการแข่งขันในตลาดทางด้านแอปพลิเคชันที่ดีที่มาพร้อมกับคุณภาพบนแพลตฟอร์ม Android ครับ
สรุป
สำหรับเรื่องนี้นั้นส่วนตัวผมแล้วคิดว่าถ้าเราถามนักพัฒนาหลายๆ รายทั้งที่พัฒนาแอปพลิเคชันให้ระบบปฎิบัติการ iOS เป็นหลักและพัฒนาให้ระบบปฎิบัติการ Android เป็นหลักหรือพัฒนาแอปพลิเคชันลงทั้ง 2 ระบบปฎิบัติการนั้นเราก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชอบส่วนตัวของนักพัฒนารายนั้นๆ ครับ อย่างไรก็ตามแต่คงต้องยอมรับหล่ะครับว่าส่วนหนึ่งแล้วนั้นการเป็นนักพัฒนาก็ต้องคิดที่จะทำเงินจากสิ่งที่พวกเขาทำการพัฒนาขึ้นมาซึ่งระบบปฎิบัติการ iOS สามารถที่จะตอบสนองในเรื่องนี้ได้ดีกว่า Android มาก
ทั้งนี้ในปัจจุบันนั้นด้วยความที่ระบบปฎิบัติการ Android นั้นมีจำนวนผู้ใช้มากกว่าระบบปฎิบัติการ iOS ถึง 4 เท่าตัว ทำให้เราเริ่มเห็นนักพัฒนาหันมาพัฒนาแอปพลิเคชันลงระบบปฎิบัติการ Android กันมากขึ้นหรือไม่ก็พัฒนาไปพร้อมๆ กันทั้ง 2 ระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีแรงงานและทุนสูงมักจะพัฒนาแอปพลิเคชันลงทั้ง 2 ระบบปฎิบัติการอยู่แล้ว ในปัจจุบันนั้น Google เองก็มีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะพลักดันให้นักพัฒนามาพัฒนาแอปพลิเคชันลงระบบปฎิบัติการ Android ด้วยการสนับสนุนในหลายๆ ทาง งานนี้คงต้องตามดูกันต่อไปหล่ะครับว่า Google จะทำสำเร็จหรือไม่(เพราะจะว่าไปแล้ว Google เองนั้นมีข้อได้เปรียบข้อใหญ่ซึ่งนั่นก็คือจำนวนผู้ใช้ระบบปฎิบัติการ Android ที่มากกว่า iOS ถึง 4 เท่าตัวอยู่ในมือนี่แหละครับ)
ที่มา : thenextweb, bgr