Dell XPS 13 ได้ฤกษ์เปิดตัวมาช่วงระยะหนึ่งในปีที่ผ่านมา และได้รับรางวัล โน๊ตบุ๊คยอดเยี่ยมของปี 2015 กับการคว้ารางวัล Editor’s Choice ทั้งในเรื่องของภาพลักษณ์และระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ หน้าจอที่สวยงามและขนาดที่บางเฉียบ โดยตอนนี้ได้เปิดตัวรุ่นใหม่ที่ใช้ซีพียูอินเทล เจนเนอเรชั่นที่ 5 รวมถึงภายในที่ปรับปรุงใหม่ที่ช่วยให้การใช้งานโดดเด่นยิ่งขึ้น
โดยโมเดลใหม่นี้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบบางอย่าง แต่ไม่ได้หนีไปจากการเป็นรุ่นเรือธงของ Dell ตั้งแต่หน้าจอขนาด 13 นิ้ว ในแบบทัชสกรีน ให้ความละเอียดที่ 3200 x 1800 pixels อัพเกรดจากเดิมที่เป็นเพียง 1080p ใช้หน่วยประมวลผล Intel Core i5-6200 และแรม 8GB รวมถึง SSD 256GB
สำหรับทางเลือกที่ดีกว่าและประสิทธิภาพจากฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่นี้ ทำให้ค่าตัวเริ่มตั้งแต่ 800USD หรือประมาณ 28800 บาท ไปจนถึง 1400USD ประมาณ 50000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เริ่มประมาณ 600USD (21600 บาท) แต่ราคารุ่นล่างสุดเป็นราคาที่ได้รับการอัพเกรดให้แข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นๆ ได้เช่นกัน
การเปิดตัว Dell XPS 13 ทำให้เห็นการออกแบบที่ค่อนข้างโดดเด่นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกรอบด้านในที่บาง แทบจะไม่มีช่องว่าของขอบจอและบอดี้ รวมถึงความหนาเพียงหนึ่งในสี่นิ้ว นั่นหมายความว่าโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ออกแบบได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า edge-to-edge หรือเกือบจะไร้ขอบ สิ่งนี้ก็มีส่วนทำให้ XPS มีขนาดเล็กลง เทียบได้กับโน๊ตบุ๊คขนาด 11 นิ้วบางรุ่นเลยทีเดียว
ด้วยขนาดที่กระทัดรัด อาจทำให้เกิดความกังวลเรื่องความทนทาน แต่ Dell เลือกที่จะสร้างความมั่นใจด้วยการใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์และแชสซีที่เป็นอลูมิเนียมให้ความรู้สึกที่หนักแน่น ทำให้ผู้ใช้รู้สึกจับถือได้ดีกว่า และการปรับใช้หน้าจอด้วยความสบายใจ ทำให้ XPS 13 นี้จับถือและเคลื่อนไหวคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
แม้จะมีหลายส่วนที่ถูกยกย่องให้เป็นการออกแบบที่น่าประทับใจ แต่ก็มีบางส่วนที่ถูกแสดงความเห็นอยู่ด้วย เช่น เรื่องของฝาครอบหรือฝาปิดที่ Dell เลือกเป็นโลหะสีเงินเมทัลลิก ที่ทำให้ดูแตกต่างกับผิวและรูปลักษณ์ของตัวเครื่อง ทำให้ลดความเป็นเอกลักษณ์เมื่อเปิดเห็นผิวสัมผัสที่อยู่ภายในของคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งตรงจุดนี้น่าจะอยู่ที่ความชื่นชอบของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน
ส่วนของการเชื่อมต่ออาจไม่ใช่จุดแข็งของ XPS 13 เพราะจัดพอร์ต USB 3.0 มาให้เพียง 2 พอร์ต กับ mini-DisplayPort สำหรับส่งสัญญาณออกภายนอก และตัวอ่าน SD Card รวมถึงแจ๊คเสียง โดยไร้เงาของ Ethernet หรือ HDMI นั่นก็เป็นเพราะหลายคนอาจไม่ได้ต้องการ Ethernet ก็เป็นได้ เนื่องจาก XPS 13 ยังมาพร้อมการเชื่อมต่อมาตรฐาน WiFi 802.11ac และ Bluetooth 4.0 มาด้วย
ด้วยขนาดที่เล็กกระทัดรัดของ XPS 13 ไม่ได้หมายความว่าคีย์บอร์ดจะแย่หรือใช้ไม่สะดวก แต่ตรงกันข้ามปุ่มให้ความรู้สึกดีและสัมผัสที่หนักแน่น มีการตอบสนองได้แม่นยำ พร้อมช่องว่างระหว่างปุ่มที่ไม่ชิดเกินไป เพื่อให้การเคลื่อนไหวนิ้วได้แบบไม่โดนปุ่มรอบข้าง ปุ่มครอบด้านบนมีขนาดกว้าง และ Backspace ที่เล็กลง
คีย์บอร์ดที่มีไฟ Backlight ถือเป็นมาตรฐาน โดยแสงไฟจะเปิดเป็นปกติ เมื่อระบบเริ่มทำงาน สามารถปรับได้ 2 ระดับ ซึ่งแสงไฟใต้แป้นนี้เลือกปิดการทำงานได้ หากทำลายสมาธิในการใช้งาน การตั้งให้ไฟอยู่ในระดับต่ำน่าจะเหมาะกับการใช้งานมากกว่า กรณีที่ใช้งานมีแสงน้อย ด้วยทัชแพดขนาดกว้าง 4 นิ้ว อาจจะไม่ได้กว้างมาก แต่ก็พอให้ใช้งานได้สะดวกพอสมควร รองรับการมัลติทัช ในการสกอลล์และซูมได้ดีเยี่ยม คล้ายกับการใช้งานบน Mac และการเคลื่อนไหวก็ดูจะลื่นไหลดี พร้อมระบบสัมผัสซ้าย-ขวา คลิกได้อย่างแม่นยำ แม้จะไม่ได้เป็นปุ่มลอยขึ้นมาก็ตาม
หน้าจอความละเอียดสูง
XPS 13 มาพร้อมหน้าจอความละเอียดเบื้องต้น 1080p แต่ในรุ่นทดสอบนี้มาในความละเอียด 3200 x 1800 แบบทัชสกรีน ให้ความหนาแน่น 280 ppi ซึ่งมากกว่าในจอความละเอียดเดียวกันบางรุ่น จึงให้ความคมชัดสูง เพียงแต่ไม่สามารถใช้งานในโหมด 4K แบบ Native ได้เท่านั้น จึงไม่สามารถบอกถึงความแตกต่างระหว่างการแสดงผล 4K และ 1080p ได้ชัดเจนนัก
ในการแสดงผลวีดีโอความละเอียดต่ำ ยังทำได้ดีบน XPS 13 นี้ เนื่องจาก Dell ให้ค่า Contrast ratio อยู่ที่ 680:1 ให้ระดับของสีดำทั่วทั้งหน้าจอ และมีค่า gamut 97% sRGB จัดอยู่ในระดับท็อปของการทดสอบโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่น ในส่วนของสีสันถือเป็นไฮไลต์ กับค่าความต่างเฉลี่ยที่ 1.9 (ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี)
แต่ไม่ได้มีทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ที่บอกถึงค่าแกมมาเฉลี่ย 1.9 และให้ค่าความสว่าง (Brightness) 196 lux นั่นถือว่าให้การอ่านที่พอใช้ได้ เพียงแต่โน๊ตบุ๊คบางรุ่นที่ออกมานั้น กลับให้อยู่ที่ 250 lux ได้สบายๆ เพื่อการดูภาพจากหน้าจอได้สดใสยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับระบบเสียง ที่ไม่ได้ออกมาโดดเด่นเท่าที่ควร ลำโพงไม่ได้แสดงศักยภาพอย่างที่ควรนัก ทำให้ทางเลือกในการต่อลำโพงหรือใส่หูฟัง น่าจะเหมาะมากกว่า
ขุมพลังจาก Skylake
ในรุ่นทดสอบนี้ใช้ Intel Core i5-6200U ที่เป็นซีพียูระดับกลาง และไม่ได้จัดเก็มมา เพราะเป็นรุ่นที่ราคาสบายไม่แพง ซึ่งให้ความเร็วในการทำงาน 2.3GHz และเร่งขึ้นในโหมด Turbo Boost ไปที่ 2.8GHz
ในการทดสอบเทียบกับโน๊ตบุ๊คตัวแทนของซีพียูใน Gen5 ยังถือว่าทำได้อย่างสูสี เนื่องจากใกล้เคียงกันในแง่สถาปัตยกรรม เพียงแต่ด้วยการเป็นซีพียูที่เน้นไปในด้านของพลังงานที่เหมาะสม จึงอาจจะดรอปไปจาก Core M อยู่บ้าง เพราะใช้พลังงานที่้น้อยกว่า ซึ่งซีพียูน่าจะแสดงศักยภาพในโหมดเทอร์โบได้เต็มที่มากกว่า
ไม่ใช่แค่เพียงซีพียูเท่านั้นที่ได้รับการอัพเกรดใหม่บน XPS 13 นี้ แต่ยังรวมถึงระบบจัดเก็บข้อมูล SSD จากเดิมที่เป็น SATA มาเป็นแบบ PCIe ที่ให้อัตราการอ่านข้อมูลได้ถึง 1118MB/s และเขียนข้อมูลที่ 314MB/s อัตราการเขียนข้อมูลถือว่าทำได้ดีกว่าเดิมในระดับหนึ่ง แต่ผลการอ่านข้อมูลเร็วกว่าเดิมเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว
กราฟฟิกที่ดีกว่าเดิม แต่ไม่ถึงกับเกมเมอร์
Intel Core i5-6200U มาพร้อมกับ Intel HD graphic 520 ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ เป็นกราฟฟิกล่าสุด (IGP) จากการทดสอบด้วย 3DMark ให้ผลอยู่ที่ 2691 คะแนน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เมื่อเทียบกับกราฟฟิกออนซีพียูหลายรุ่น รวมถึงจะเห็นในการทดสอบ Sky Diver ที่คะแนน 3482 อาจจะไม่ได้สวยหรูนัก เพราะดีขึ้นกว่าในกราฟฟิกก่อนหน้านี้ไม่มาก ในการทดสอบด้วยโปรแกรมเหล่านี้ อาจเป็นตัวบอกถึงความสามารถในการเล่นเกมได้ในระดับหนึ่ง
จากผลคะแนนที่ได้อาจจะต่ำกว่าชิปอินทิเกรตกราฟฟิกบางตัวอยู่บ้าง แต่ก็ตอบโจทย์สำหรับเกมใหม่ๆ ได้น่าสนใจ เช่น Blizzard’s Heroes of the Storm ทำได้ประมาณ 54 fps บนความละเอียด 1080p ที่คุณภาพ Low detail และเมื่อปรับให้ทุกอย่างเป็น Maximum หมด ทำให้เกมช้าลงจนกระตุกที่ 16 fps แม้จะถือว่ากราฟฟิกที่มากับซีพียูรุ่นใหม่นี้จะดูสดใหม่กว่า แต่คงต้องบอกว่ายังไม่ตอบโจทย์กับการเล่นเกมฮาร์ดคอร์อย่างจริงจัง
การใช้งานในชีวิตประจำวัน
XPS 13 เริ่มที่น้ำหนักประมาณ 1.22Kg และเมื่อเลือกในรุ่นหน้าจอทัชสกรีนความละเอียดสูง ก็ยังหนักขึ้นมาเพียง 1.3Kg เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก และน้ำหนักดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เมื่อเทียบกับคู่แข่งหลายรุ่นในตลาด หากเทียบกับขอบจอที่บางและให้ความรู้สึกในการจับถือถนัดมือ พร้อมการออกแบบวัสดุที่นำมาใช้ XPS 13 จัดเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นทีเดียว
อายุการใช้งานแบต ก็เป็นอีกจุดแข็งของโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ด้วยแบตขนาด 56Wh และการใช้พลังงานต่ำของซีพียู Intel รุ่นล่าสุด ช่วยให้ผลการทดสอบด้วย Peacekeeper battery ให้ระยะการทำงานได้ที่ 7 ชั่วโมง 52 นาที ส่วนในการใช้งานด้วยการเปิดเว็บเบราว์เซอร์ต่อเนื่อง จะอยู่ได้ที่ประมาณ 8 ชั่วโมง 23 นาที จากผลที่ได้นี้ ทำให้ XPS 13 น่าใช้ขึ้นอีกเยอะ
การควบคุมความร้อน
XPS 13 ใช้ซีพียู Intel Core Processor Gen6 ที่ใช้พลังงานต่ำ ช่วยให้อุณหภูมิในการทำงานน้อย โดยส่วนภายนอกเครื่อง ที่ความร้อนประมาณ 26 องศาเซลเซียส พร้อมกันนี้พัดลมยังทำงานได้เงียบและใช้พลังงานที่ประมาณ 10W เท่านั้น บนการปรับค่าความสว่างของหน้าจอสูงสุด
เมื่อทำงานแบบ Full load ส่งผลให้ XPS 13 ทำงานหนักขึ้น ด้วยความร้อนที่ปรากฏภายนอกสูงถึงประมาณ 43 องศาเซลเซียส พร้อมกับแรงลมที่มากขึ้นในช่องทางออก พัดลมเริ่มมีเสียงดังที่ประมาณ 42.3 เดซิเบล ใช้พลังระดับ 33W นับเป็นเรื่องปกติของอัลตร้าบุ๊กระดับไฮเอนด์
Conclusion
Dell XPS 13 เป็นผลงานวิศวกรรมชิ้นเยี่ยม ที่รวมเข้ากับฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพและซีพียูล่าสุดจากอินเทล รวมถึงบอดี้ขนาดพกพา จะมีบางเรื่องอย่างหน้าจอแบบ Glossy มีการสะท้อนจากในห้องที่มีความสว่างมาก พัดลมมีเสียงค่อนข้างดังเมื่อทำงานในแบบ Full load แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความโดดเด่นที่มีมากมายบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอความละเอียดสูง คีย์บอร์ด ทัชแพดและประสิทธิภาพที่ได้ รวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน รวมถึงขนาดกระทัดรัด โดยที่ Dell XPS 13 ใหม่นี้ ให้ความบางกว่าและความหนาแน่นของพิกเซลที่ดีขึ้น รวมถึงทัชแพดที่ใช้งานง่าย จึงตอบรับกับการทำงานที่เน้นความสะดวกสบายในปัจจุบันได้ดี
จุดเด่น
-ขนาดบางและเบา
-การออกแบบที่มีเสน่ห์
-ทัชแพดชั้นเยี่ยม
-หน้าจอสวย
-แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน
ข้อสังเกต
-มีพอร์ตต่อพ่วงจำกัด
-ลำโพงไม่ดังเท่าที่ควร
ที่มา : digitaltrends