หลังจากที่รอคอยกันมานานแสนนานกับการมาของ DDR4 ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นการดึงศักยภาพของซีพียูได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ก็เริ่มจะเป็นจริงกันเสียที โดยมีการอ้างถึงรายงานจาก guru3d.com เรื่องแรม DDR4 จากแหล่งข่าวประเทศ Norway ที่มีแรม Micron/Crucial 64GB DDR4 จำหน่ายในราคาประมาณ 1260 USD ซึ่งเป็นราคาที่บวกกับ VAT 25% ในนอร์เวย์จึงเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง แต่อาจมีแนวโน้มที่ในสหรัฐอเมริกาน่าจะอยู่ที่ราวๆ 900-950 USD ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และช่องทางการจำหน่าย โดยจากรายละเอียดที่เห็นนั้น จะเป็นแรม DDR4 ความจุ 64GB (16Gb x 4) ที่มีความเร็ว 2133MT/s หรือ PC4-17000 ที่มีค่า CL15 โดยมีจำนวนขาอยู่ที่ 288 pins ซึ่งเป็นแรม ECC ไฟเลี้ยง 1.2V
โดยที่การมาของ DDR4 นี้จะสอดคล้องกับการเปิดตัวซีพียู Haswell-E ของทาง Intel ของปี 2014 ในการเริ่มตลาดซีพียู 8-Cores ซึ่งจะเป็นการปลุกตลาดของซีพียูแกนหลัก 8 แกนครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อก้าวขึ้นแท่นของตลาดพีซีอีกครั้ง แน่นอนว่าการมาของซีพียู Haswell-E นี้จะได้รับการจับตามองจากผู้ใช้ในวงกว้างอีกครั้ง หลังจากที่ Haswell เดิมนั้นอาจจะยังเรียกกระแสได้ไม่เปรี้ยงปร้างมากนัก?โดยที่ Haswell-E จะมีบทบาทในการกำหนดค่าของ Die บน GPU เพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือกในการทำงานบนแกนหลัก 6 หรือ 8 แกนหลัก ซึ่งซีพียูดังกล่าวนี้จะมี L3-Cache สูงถึง 20MB พร้อมเทคโนโลยี Hyper Threading ให้การประมวลผลสูงสุดที่ 16 Thread แต่มีค่า TDP อยู่ที่ 130-140W เท่านั้น ผลิตขึ้นบนกระบวนการผลิตที่ 22nm ในแบบ Hi-K?คาดการณ์ว่าประสิทธิภาพในการทำงานของ Haswell-E ที่มากขึ้นจากเดิมอีก 2 แกนหลักนั้น จะสูงขึ้นกว่า Ivy Bridge-E อยู่ประมาณ 33-50% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้ใช้ที่รอการมา
โดยสิ่งที่เชื่อมต่อกันระหว่างซีพียูรุ่นใหม่ของอินเทลและแรม DDR4 นี้ ก็คือในเรื่องของชิปเซ็ตตระกูล Wellsburg ที่มาพร้อมฟีเจอร์ชุดใหญ่ รองรับการทำงานของ DDR4 เต็มรูปแบบได้ถึง 2133MHz รวมถึงยังสามารถโอเวอร์คล็อกขึ้นไปได้อีกด้วย ซึ่ง Wellsburg X-PCH น้ันรองรับการเชื่อมต่อต่างๆ ดังต่อไปนี้
-Up to 6 x USB 3.0 ports
-Up to 8 x USB 2.0 ports
-Up to 10 x SATA 6 Gbps ports
-Integrated Clock support
-TDP of 6.5W
ซึ่งหากดูข้อมูลพื้นฐานในการรองรับแรมแล้ว Wellsburg สามารถกำหนดค่าความเร็วได้ตั้งแต่ 1333MHz, 1600MHz ไปจนถึง 1866MHz และ 2133MHz แถมยังมีโอกาสที่แรม DDR4 2133MHz นั้นจะเป็นแรมที่ความเร็วพื้นฐานที่จะวางจำหน่ายในช่วงปีหน้าด้วยซ้ำไป รวมไปถึงการสนับสนุน DDR4 Quad-channel ที่จะช่วยเพิ่มความถี่สัญญาณและแบนด์วิทธ์ให้สูงขึ้น 50% เมื่อเทียบกับการทำงานของ Dual หรือ Triple-channel ที่เคยมีมาในอดีต อันเป็นอีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากความเร็วสัญญาณนาฬิกาของตัวแรม ข่าวดีก็คือ ด้วยชิปเซ็ตใหม่นี้ สนับสนุนแรมแรงดันไฟต่ำ 1.2V ของแรม DDR4 เชื่อมต่อผ่านสล็อต DIMM 288-pins ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่เป็น 284-pins ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสามารถใช้สล็อต DIMM นี้ร่วมกันได้
ซึ่งซีพียู Haswell-E นี้จะมาพร้อมซ็อกเก็ต LGA2011 แต่เป็น 2011-3 โดยมีขนาดของซ็อกเก็ตแบบเดียวกัน รวมถึงจำนวนขาเท่าเดิม แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกแบบแพ็คเกจเสียใหม่
โดยภาพรวมก็คือ ผู้ใช้น่าจะมีโอกาสได้สัมผัส DDR4 ในช่วงปีนี้ อีกทั้งซีพียูอินเทลและแพลตฟอร์มใหม่ ก็จะช่วยส่งเสริมการทำงานให้สอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน Quad-channel หรือทำงานร่วมกับแรมความเร็ว DDR 2133 แต่ที่ต้องติดตามก็คือ เรื่องของราคาว่าจะแรงเพียงในช่วงเวลานี้ที่แรมราคาสูงลิบลิ่วขนาดนี้
ที่มา guru3d.com