เป็นสิ่งที่เราทราบกันดีว่า หลังจากยุคของ IDE ที่เป็นพอร์ตต่อพ่วงฮาร์ดดิสก์ ซึ่งเป็นอินเทอร์เฟสแบบเก่าหมดยุคไปและถูกแทนที่เข้ามาด้วยอินเทอร์เฟสแบบ SATA ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ SATA ในยุคแรกที่ยังมีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลที่ไม่สูงนัก จนมาถึง SATA2 และ SATA3 แลล่าสุด SATA Express ที่จัดว่ามีความเร็วที่เหนือชั้นขึ้นมา จนทำให้ลดปัญหาเรื่องการรับส่งข้อมูลได้ดีมากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ดีความเร็วในระดับ 550MB/s อาจจะตอบโจทย์การทำงานโดยทั่วไปได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงยุคที่ไฟล์ข้อมูลมีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ภาพจากกล้องในระดับ 15-20 ล้านพิกเซลหรือไฟล์วีดีโอระดับไฮเดฟฟินิชั่นหรือจะเป็นไฟล์เสียงคุณภาพต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้ความเร็วที่ได้จาก SATA3 นี้ แทบจะกลายเป็นท่อยางรดน้ำต้นไม้ไปเลยทีเดียว รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ การเป็นคอขวดในระบบ ด้วยการที่อุปกรณ์อื่นๆ สามารถประมวลผลและทำความเร็วในการทำงานได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า แต่ช่องทางการรับส่งข้อมูลร่วมกับฮาร์ดดิสก์ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ดีนัก แม้จะใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ SSD ที่มีอัตราการตอบสนองต่อช่องทางข้อมูลดังกล่าวสำหรับการ Read/ Write ได้สูงขึ้นก็ตามที จึงจำเป็นต้องมีอินเทอร์เฟสใหม่อย่าง SATA Express เกิดขึ้น
SATA Express หรือ SATA 3.2
แต่คำตอบสำหรับเรื่องนี้ ปัจจุบันก็ได้แก้ไข ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของ SATA เพื่อที่จะรองรับการทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยคำตอบออกมาในแบบที่เรียกว่า SATA Express หรือ SATA 3.2 ที่ทำความเร็วได้มากกว่า 800 MB/s รวมถึงความเร็วดังกล่าวนี้เป็นการทำงานบน PCIe 2.0 ซึ่งก็มีแนวโน้มในการที่จะนำไปใช้บนเทคโนโลยี PCIe 3.0 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะให้ความเร็วได้มากถึง 1600 MB/s เลยทีเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ การทำงานของ SATA Express นั้น เป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เฟสแบบ SATA แต่ทำงานผ่านช่องทาง PCI-Express นั่นเอง จึงทำให้ได้ช่องทางในการรับส่งข้อมูลที่เร็วยิ่งขึ้น เต็มการทำงานของ SATA อีกด้วย เหมือนกับการทำงานของอุปกรณ์ที่เป็น SSD ในบางรุ่นอย่างเช่น Revodrive ที่เป็น SSD แต่เชื่อมต่อบนการ์ดที่ทำงานบนอินเทอร์เฟส PCI-Express นั่นเอง
SATA Express เป็นอย่างไร
ส่วนรูปลักษณ์ของ SATA Express นั้นจะต่างจากพอร์ต SATA โดยทั่วไปก็คือ ในส่วนของปลายสายทั้งสองด้านจะต่างกัน โดยในส่วนของปลายที่ใช้ต่อพอร์ตบนเมนบอร์ดจะเป็นช่อง SATA ที่ห่างกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ แต่พอร์ตที่ต่อบนฮาร์ดดิสก์จะเป็นลักษณะของพอร์ต SATA ที่ติดกันอยู่ 2 พอร์ต โดยพ่วงเอาพอร์ตสำหรับจ่ายไฟเข้าไปด้วย โดยสามารถใช้งานร่วมกับพอร์ต SATA ของฮาร์ดดิสก์ได้ทุกรูปแบบเลยทีเดียว
ส่วนการสนับสนุน SATA Express นั้น มีอยู่บนชิปเซ็ตรุ่นใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้คาดกันว่าจะมีอยู่ในชิปเซ็ต Intel ในรุ่น Z97 ซึ่งเป็นชิปเซ็ตที่จะออกมาในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2014 ที่รองรับหน่วยประมวลผล Broadwell-K และ Haswell ได้ รวมถึงเมนบอร์ดหลายรุ่นที่ออกมานั้น มีพอร์ต SATA Express ออกมารองรับการทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงเมนบอร์ด Z87 บางรุ่นก็มี SATA Express มาให้สัมผัสกันบ้างแล้วด้วย จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ใช้จะสามารถใช้ประโยชน์บนชิปเซ็ตรุ่นใหม่นี้ได้อย่างเต็มที่