หลายๆ ท่านที่ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับวงการการ์ดจอพีซีน่าจะทราบกันไปแล้วนะครับ กับการเปิดตัวการ์ดจอซีรี่ส์ใหม่จาก AMD อย่าง AMD Radeon R9 ที่เป็นรุ่นท็อปและ AMD Radeon R7 ที่เป็นซีรี่ส์รองลงมา ซึ่งในงานเปิดตัวครั้งนี้ ทางเว็บไซต์ NotebookSpec ของเราก็ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนสื่อของประเทศไทยไปทำข่าวงานเปิดตัวถึงฮาวายด้วย ก็ต้องขอขอบคุณทาง AMD ประเทศไทยที่มอบโอกาสนี้ให้กับเราครับ และแน่นอนว่าผมก็กลับมาพร้อมกับข้อมูลเชิงเทคนิค (เท่าที่เปิดเผยได้) และภาพถ่ายบรรยากาศที่ฮาวายมาฝากชาว NBS ด้วยเช่นกัน โดยจะขอแยกเป็นสองบทความนะครับ คือบทความเชิงเทคนิค (บทความนี้) และบทความพาทัวร์
สำหรับบทความข้อมูลเชิงเทคนิคบทความนี้ จะขอไล่ไปตามลำดับของงานนะครับ มาเริ่มกันเลย
ในงาน GPU14 Tech Day Event นี้มีการเชิญสื่อสายไอทีจากหลายเว็บไซต์ทั่วโลกไปร่วมงานกันครับ รวมแล้วเป็นร้อยคนเลยทีเดียว โดยงานจัดขึ้นที่โรงแรม JW Mariotte ที่ Oahu ในฮาวาย ซึ่งในงานเปิดตัวครั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดสดแบบสตรีมมิ่งให้ได้ชมพร้อมกันทั่วโลกด้วย แต่ของไทยอาจจะมีผู้ติดตามไม่มากนัก เพราะมันเป็นช่วงเวลาตีสอง ตีสามบ้านเรา
บรรยากาศภายในห้องครับ เสียดายที่เกิดเหตุขัดข้องเรื่องการสตรีมมิ่งงานไปหน่อย ทีมงานเลยต้องใช้เวลาแก้ไขกันซักพัก
ในด้านของข้อมูลนั้น ก็เริ่มจากการบรรยายของ Matt Skynner ที่ดูแลงานด้านของกราฟิก และรองประธาน AMD มาพูดถึงภาพรวมที่ผ่านมาและกลยุทธ์ที่จะเดินต่อไปในปีหน้ากันก่อน
ซึ่งโดยรวมแล้ว AMD ก็จะเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในด้านเกมเป็นหลักอยู่เช่นเคย เหตุเพราะกลไกหลักที่ทำให้ตลาดการ์ดจอเติบโตก็มาจากเกมนี่เอง ยิ่งเกมพัฒนา ฮาร์ดแวร์ก็ต้องพัฒนาตามเพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้อยู่เสมอๆ ซึ่งที่ผ่านมา AMD ก็เดินหน้าเสริมเทคโนโลยีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเอฟเฟ็คท์การแสดงผลภาพอย่าง TressFX, การให้แสงเงาที่สวยสมจริง หรือจะเป็นด้านของการแจกเกมในแคมเปญ AMD Never Settle ก็ตาม
แต่ในอดีต ด้านที่ยังเป็นจุดด้อยอยู่ก็คือเหล่าเกมสำหรับเครื่องคอนโซล ที่มีหลายเกมไม่สามารถลงมาอยู่บนพีซีได้ เหตุเพราะการพอร์ตเกมมาลงพีซีทำได้ยาก เนื่องจากองค์ประกอบด้านฮาร์ดแวร์ที่แตกต่างกัน ทำให้ซอฟต์แวร์สามารถปรับให้ใช้งานร่วมกันได้ยาก (ไม่นับเรื่องสิทธิ์ความเป็น Exclusive Game) แต่หลังจากนี้ เราจะได้เห็นการพอร์ตเกมจากเครื่องคอนโซลมายังพีซี และจากพีซีไปคอนโซลได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย เนื่องมาจากทั้งการที่เครื่องคอนโซลยุคใหม่อย่าง PlayStation 4 และ Xbox One ต่างก็ใช้ชิปประมวลผล/ชิปกราฟิกจาก AMD ในสถาปัตยกรรม x86 เช่นเดียวกับพีซี ประกอบกับการยกเครื่องซอฟต์แวร์ใหม่ของ AMD ทั้งสองปัจจัยนี้จะทำให้การพอร์ตเกมสามารถทำได้ง่าย และมีคุณภาพมากกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
เมื่อองค์ประกอบด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เกื้อหนุนกันขนาดนี้แล้ว ก็น่าจะทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ความบันเทิงจากการเล่นเกมได้ดีกว่าที่เคย
ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่จะทำให้การเล่นเกมบนพีซีสนุกยิ่งขึ้นในยุคหน้าที่กำลังจะมาถึง ก็จะมีเรื่องหลักๆ เช่น
- ประสิทธิภาพของระบบที่สูงขึ้น เหตุเพราะเครื่องคอนโซลยุคใหม่อย่าง PS4 และ Xbox One ต่างก็มาพร้อมประสิทธิภาพที่สูงมากๆ ทำให้ฝั่งพีซีจะต้องพัฒนาให้สูงขึ้นไปอีก
- การแสดงผลที่คมชัด สวยงามยิ่งขึ้น ซึ่งในตอนนี้ Full HD จัดว่าเป็นระดับธรรมดาๆ สำหรับนักเล่นเกมไปแล้ว งานนี้ AMD หันมาโฟกัสไปที่ความละเอียดระดับ UltraHD หรือที่รู้จักกันง่ายๆ ก็คือระดับ 4K กันแล้วครับ
- กับบางเกมที่ต้องการมุมมองภาพกว้างๆ การต่อใช้งานหลายจอก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งทาง AMD ก็เป็นผู้นำด้านนี้อยู่แล้ว กับเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Eyefinity นั่นเอง
- ระบบเสียงก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเล่นเกมเช่นเดียวกัน และแน่นอน การ์ดจอรุ่นใหม่ของ AMD ก็จะมาพร้อมกับระบบเสียงที่ทรงพลังกว่าที่เคย
ส่วนนี้เป็นการพูดถึงการ์ดจอรุ่นปัจจุบัน (ที่กำลังจะเก่า) ครับ
และส่วนนี้ เป็นการพูดถึงการ์ดจอรุ่นใหม่ นั่นก็คือ AMD Radeon R9 Series ที่เป็นไลน์ท็อปกับ AMD Radeon R7 Series ที่เป็นไลน์รองลงมา
ชาร์ตเทียบให้เห็นความแรงแบบง่ายๆ ของการ์ดจอรุ่นใหม่แต่ละรุ่นครับ โดยใช้การเทียบจากผลคะแนน 3DMark FireStrike ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการ์ดจอ GPU เดี่ยวเท่านั้น
ข้อมูลของคร่าวๆ ของการ์ดจอซีรี่ส์ใหม่จาก AMD ซึ่งจะเป็นข้อมูลกลางๆ นะครับ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตการ์ดจอด้วยว่าจะปรับแต่ง เพิ่มลดชิ้นส่วนขนาดไหนอีกที ส่วนข้อมูลรายละเอียดเบื้องลึก ต้องรอการเปิดเผยจากทาง AMD อีกที แต่ที่แน่ๆ คือ AMD Radeon R9 290X เป็นการ์ดจอ GPU เดี่ยวที่แรงที่สุดของ AMD ในปีนี้อย่างแน่นอน
มาดูข้อมูลรายละเอียดคร่าวๆ ของ AMD Radeon R9 290 กันหน่อยครับ
- มาพร้อมสถาปัตยกรรม Graphic Core Next ที่ให้พลังประมวลผลได้ดี ประหยัดไฟ (ดีกว่ารุ่นเก่าๆ ที่ใช้ GCN เหมือนกันด้วย)
- รองรับ DirectX 11.2 (การ์ดจอทั้งหมดของซีรี่ส์ R9 และ R7 ก็รองรับ DX 11.2 ด้วยนะ)
- พลังประมวลผลสูงถึง 5 TFLOPS
- แบนด์วิธหน่วยความจำสูงกว่า 300 GB/s (เร็วกว่าในปัจจุบัน)
- สามารถคำนวณรูปทรงสามเหลี่ยมได้กว่า 4 พันล้านหน่วยต่อวินาที
- มาพร้อมทรานซิสเตอร์กว่า 6 พันล้านตัวในชิป GPU
ด้วยพลังประมวลผลระดับนี้ สามารถใช้งานร่วมกับจอความละเอียดระดับ 4K ได้สบายๆ ซึ่งจะให้อรรถรสการเล่นเกมที่เหนือกว่า Full HD ไม่ว่าจะเป็นด้านความละเอียด ความคมชัด ความสวยงามของสีสันที่สัมผัสได้ชัดเจนกว่าปัจจุบัน โดยนอกจากฮาร์ดแวร์จะรองรับแล้ว AMD ก็ยังจัดการปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวไดรเวอร์เองที่สามารถปรับรูปแบบการแสดงผลได้อัตโนมัติ ผู้ใช้งานไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปปรับตั้งค่าให้ยุ่งยากวุ่นวาย
นอกจากนี้ AMD ยังได้ร่วมมือกับผู้ผลิตจอ 4K ยอดนิยม เพื่อทำการเก็บค่าคอนฟิกของจอรุ่นต่างๆ เอาไว้ เพื่อให้ระบบสามารถปรับการแสดงผลได้ทันทีเมื่อใช้งานร่วมกับจอรุ่นที่มีข้อมูลเก็บไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด โดยจอที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับ AMD อย่างแน่นอนก็คือจอ 4K ในตระกูล Viera ของ Panasonic ครับ และจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกแน่นอน เพราะซักวันหนึ่ง 4K ก็ต้องกลายเป็นมาตรฐานของจอแสดงผลอยู่แล้ว AMD จึงเริ่มเดินนำหน้าไปก่อน เพื่อที่ถึงเวลา จะได้พร้อมเป็นผู้นำในด้านนี้
พูดถึงเรื่องภาพไปแล้ว คราวนี้มาเรื่องเสียงกันบ้าง กับเทคโนโลยีใหม่ที่มีชื่อว่า AMD TrueAudio Technology ที่มาพร้อมกับการ์ดจอซีรี่ส์ R9 และ R7 โดยตัวของ TrueAudio นั้น ฝั่งของผู้ใช้งานก็คือมันจะเป็นระบบการประมวลผลเสียงให้ผู้เล่นเกมสามารถแยกแยะทิศทางและระยะห่างของแหล่งกำเนิดเสียงในเกมได้ดีขึ้น รวมไปถึงการเป็นระบบประมวลผลที่ให้เสียงออกมาตรงจังหวะที่ควรจะเป็น ลดปัญหาเสียงดีเลย์จากภาพที่เห็น ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการเล่นเกมในหลายๆ แนว เช่นถ้าหากเสียงออกมาช้าเกินไป เราอาจจะตัดสินใจในเกมผิดก็เป็นได้ ระบบ TrueAudio จะเข้ามาจัดการตรงนี้ครับ
ซึ่งในเรื่องของเชิงเทคนิคแล้ว AMD TrueAudio Technology จะเป็นการปรับมาให้การ์ดจอทำหน้าที่ประมวลผลด้านทิศทางและระยะห่างแหล่งกำเนิดเสียงภายในเกม เพื่อลดการทำงาน CPU หลักของเครื่องลง (ปกติแล้ว CPU จะเป็นฝ่ายคำนวณ ซึ่งกินพลัง CPU มาก และอาจส่งผลให้เสียงดีเลย์ได้) ทำให้สามารถประมวลผลเสียงได้มากกว่าเดิม โดยที่ไม่ลดทอนพลังของ CPU หลักในเครื่องเท่าไรนัก ประกอบกับเสียงที่ออกมาตรงจังหวะกับภาพจริงๆ ทำให้ได้ชื่อว่า TrueAudio แต่ทั้งนี้ มันไม่ได้มาทำหน้าที่แทนการ์ดเสียงหรือชิปเสียงในเครื่องนะครับ มันเป็นแค่หน่วยประมวลทิศทางและระยะห่างของเสียงเท่านั้น ส่วนเนื้อเสียงจริงๆ จะถูกประมวลผลและขับออกมาทางการ์ดเสียง/ชิปเสียงเช่นเดิม ทำให้เนื้อเสียงที่ออกมาก็ยังคงมีลักษณะเช่นเดิม แต่เรื่องของทิศทางและการสร้างระยะห่างกับวัตถุทำได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะใช้หูฟังหรือลำโพงแบบ 2 channel ปกติหรือจะหลาย channel ก็ตาม ระบบก็จะจำลองเสียงให้สอดคล้องกับอุปกรณ์ให้ได้มากที่สุด
โดยในเบื้องต้น TrueAudio จะใช้งานกับกลุ่มของเกมเป็นหลักนะครับ และแน่นอนว่าเกมจะต้องรองรับการทำงานของฟีเจอร์นี้ด้วย ซึ่งถ้าเกมไหนรองรับ ระบบก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ ส่วนการใช้งานด้านอื่นๆ เช่นเพลง ภาพยนตร์ อันนี้คงต้องรอดูกันต่อไปในอนาคต
AMD TrueAudio Technology จะมาพร้อมกับการ์ดจอสามรุ่นแรกคือ
- AMD Radeon R9 290X ตัวท็อป
- AMD Radeon R9 290
- AMD Radeon R7 260X
ในงาน GPU14 Tech Day ครั้งนี้ AMD ก็ได้เชิญพาร์ทเนอร์ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี TrueAudio มาพูดคุยให้ฟังถึงตัวระบบด้วย พร้อมทั้งสาธิตระบบเสียง TrueAudio ให้ได้ฟังกันในงานด้วย ส่วนตัวที่ได้ลองฟัง จัดว่าโอเคเลยครับ แต่ถ้าจะให้เห็นผลชัดเจนก็คงต้องเป็นการเล่นเกมไปฟังไปถึงจะชัดเจนว่ามันดีขึ้นจากเดิมขนาดไหน
โดยหนึ่งในรูปแบบเสียงที่จะได้ใช้งานฟีเจอร์ TrueAudio อย่างเต็มที่ก็คือรูปแบบของ Reverb ที่เป็นรูปแบบการจำลองให้เสียงก้องเพื่อสร้างมิติและความสมจริงให้กับเสียง ตัวอย่างของเกมที่จะต้องใช้การ reverb ของเสียงก็เช่น Thief เวอร์ชันรีเมคที่จะออกมาในปีหน้า เพราะระบบจะต้องสามารถจำลองเสียงได้อย่างถูกต้องว่ามาจากตำแหน่งใด ระยะห่างเท่าใดตามลักษณะของห้อง เพื่อให้ผู้เล่นได้รับความรู้สึกเสมือนว่ากำลังรับบทบาทเป็นจอมโจรตัวจริง
ซึ่งการจำลองเสียงแบบ reverb นี้ ถ้าหากใช้ระบบการประมวลผลแบบปกติจาก CPU จะเป็นการกินพลังของ CPU เป็นอย่างมาก และอาจส่งผลกระทบกับงานอื่นๆ ไปด้วย แต่ถ้าหากใช้ความสามารถของ TrueAudio จะสามารถลดโหลดของ CPU ลงไปได้มากทีเดียว
อีกหนึ่งเกมที่จะออกในปีหน้า และมาพร้อมกับการสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่จาก AMD ก็คือเกม Lichdom จากผู้พัฒนาอิสระ เป็นเกมแนว FPS แต่อาวุธที่เราใช้จะไม่ใช่ปืนครับ แต่เป็นเวทย์มนต์ สามารถผสมเวทย์แต่ละอย่างเข้าเป็นเวทย์มนต์ชนิดใหม่ได้ เป็นต้น โดยจะออกเฉพาะบนพีซีก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนบนเครื่องคอนโซล เท่าที่ถามทางผู้พัฒนาก็บอกว่ามีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ตอนนี้ขอเน้นบนพีซีก่อน เพราะฝั่ง AMD มีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกมออกมาสมจริงในหลายๆ ด้านทั้งภาพและเสียง
โดยผู้ผลิตเกมนี้ก็คือ Xaviant ค่ายเกมน้องใหม่ สำหรับใครที่สนใจเกม Lichdom สามารถเข้าไปติดตามได้จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเกมได้เลยครับ?http://www.lichdom.com/index.html
ในงาน GPU14 ครั้งนี้ ซีอีโอของ Maingear บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ตัวแรงสำหรับเกมเมอร์ก็มาบรรยายสั้นๆ ในงาน พร้อมโชว์ตัวอย่างเครื่องพีซีประกอบของตนที่มาพร้อมการ์ดจอซีรี่ส์ใหม่จาก AMD ด้วย
กลับมาที่ด้านเกมกันต่อครับ กับในด้านพัฒนาการของเกม ซึ่ง AMD ก็ได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยี TressFX ที่ออกมาทำให้ผมของ Lara Croft ใน Tomb Raider ภาคใหม่ออกมาสวยสมจริง และในปีหน้ามันก็จะมากับเกมใหม่(หน้าเก่า) นั่นก็คือสาวน้อย Ruby ที่ห่างหายไปนานกว่า 5 ปีนั่นเอง !! คราวนี้มาพร้อมกับเอฟเฟ็คท์จัดเต็มด้านภาพจริงๆ ครับ ไม่ว่าจะ TressFX, ระบบแสงเงาที่สวยงามมากขึ้น, ระบบการ blur พื้นหลัง, การทำ bokeh ให้แสงไฟ ทั้งนี้ก็มาจากพลังประมวลผลของชิปกราฟิกซีรี่ส์ใหม่ที่ทรงพลังมากขึ้นกว่าก่อน
ส่วนตัวเกม Ruby พบกันได้ปีหน้าครับ
คราวนี้เราน่าจะได้เห็น Ruby กลับมาอยู่หน้ากล่องการ์ดจอกันอีกครั้งแล้วล่ะ
อีกเกมหนึ่งที่จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีจาก AMD ก็คือเกม Star Citizen จากนักพัฒนาอิสระอีกเช่นเดียวกัน โดยเป็นเกมที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากผู้ที่ให้ความสนใจในคอนเซ็ปท์ของเกม ซึ่งเป็นโมเดลการสร้างเกมที่เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ธีมของเกมก็คือเราสามารถสร้างยานอวกาศของเราเอง ออกแบบยานเองได้หลากหลายรูปแบบมากๆ สามารถออกไปปฏิบัติภารกิจในเกมได้มากมาย ใครที่อยากขับยานอวกาศ เกม Star Citizen น่าจะช่วยเติมเต็มความฝันหลายๆ คนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งถ้าเล่นเกมบนเครื่องที่ต่อหลายจอแบบ Eyefinity ด้วย คงยิ่งสมจริงเข้าไปใหญ่เลยทีเดียว
ใครที่สนใจจะอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกม Star Citizen หรืออยากจะร่วมลงขันบริจาคเพื่อช่วยทำเกม(ได้เกมมาเล่นด้วย เมื่อเกมเสร็จ) สามารถเข้าไปดูต่อได้ที่?https://robertsspaceindustries.com/about-the-game
นอกจากแต่ละเกมข้างต้นแล้ว ก็ยังมีเกมอื่นๆ ที่รองรับเทคโนโลยีจาก AMD อีกครับ เช่น Murdered Soul Suspect ที่จะออกในปีหน้า รองรับ TrueAudio Technology, Saint Row IV (ที่ออกมาแล้ว) ก็รองรับ Eyefinity หรืออย่าง Sonic All-Stars Racing ภาคใหม่ก็ยังรองรับระบบเสียง TrueAudio และรองรับ Eyefinity อีกด้วย ซึ่งแต่ละเกมเหล่านี้ ถ้าหากใครใช้งานการ์ดจอ AMD พร้อมระบบที่เหมาะสม รับรองได้ว่าจะได้รับประสบการณ์การเล่นเกมที่เหนือกว่าเดิมอย่างแน่นอน
ด้านของซอฟต์แวร์เสริมการเล่นเกมอีกหนึ่งรายที่จับมือกับ AMD ก็คือ raptr ที่คอเกมหลายคนอาจจะคุ้นตากันอยู่บ้าง ซึ่งในงานซีอีโอของ raptr ก็ได้ขึ้นมาบรรยาย (ตัวบริษัทอยู่ในละแวกใกล้ silicon valley บริเวณที่มีบริษัทด้านไอทีชั้นนำของโลกหลายบริษัทรวมอยู่ที่นั่น) ซึ่งเริ่มต้นด้วยการบรรยายข้อดี/ข้อเสียของการเล่นเกมบนพีซีออกมาดังนี้?ข้อดีคือเทคโนโลยี กราฟิก คุณภาพงานเหนือกว่าคอนโซล รวมไปถึงยังสามารถปรับแต่งได้หลากหลาย แต่ข้อเสียก็คือบางครั้งมันก็เป็นการยากที่ผู้ใช้งานจะสามารถปรับแต่งเครื่องให้เล่นเกมได้ดี รวมไปถึงยังไม่มีแหล่งสังคมกลางของเกมเมอร์ เพื่อให้ได้พบปะพูดคุย เล่นเกมร่วมกันอย่างที่ในเครื่องคอนโซลมี ถึงแม้ปัจจุบันจะมีสังคมเกมเมอร์เกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น Steam, Origin ก็ตาม แต่ถ้าเราจะเล่นเกมที่ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มต่างๆ เราก็ต้องมานั่งลงโปรแกรมมากมาย กว่าจะสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเพื่อน ซึ่ง raptr จะเข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมสังคมเกมเมอร์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน
โดยในคราวนี้ raptr ได้จับมือกับ AMD ออกซอฟต์แวร์ที่เหนือกว่าการเป็นแค่สังคมเกมเมอร์เดิมๆ แต่มันสามารถปรับแต่งระบบให้สอดคล้องกับเกมและสเปคเครื่องได้ ซึ่งรูปแบบการปรับแต่งต่างๆ ก็จะมาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ raptr ทั้งจากการคำนวณสเปคและจากการใช้งานจริงของผู้ใช้งาน raptr ทั่วโลก เพื่อให้ได้ค่าการปรับแต่งที่เหมาะสมและแม่นยำที่สุดสำหรับแต่ละเครื่อง โดยการปรับแต่งจะถูกออกแบบมาให้เรียบง่ายที่สุด มีให้เลือกแค่ 3 ระดับ คือเน้นคุณภาพของภาพ, กลางๆ และเน้นความลื่นของเกม
สำหรับใครที่อยากลองซอฟต์แวร์ตัวใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือของ raptr กับ AMD ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดเวอร์ชัน beta (ทดสอบการใช้งาน) ได้จาก www.raptr.com/amd ได้เลยครับ
มาถึงเกมฟอร์มยักษ์อย่าง Battlefield 4 จาก EA กันบ้าง ซึ่งในภาคนี้ทาง DICE (ค่ายผู้สร้างเกม) ได้ร่วมมือกับ AMD ในด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่เช่นที่แล้วๆ มา ไม่ว่าจะเป็นทั้งการปรับแต่งตัวเกมเองให้เข้ากับเทคโนโลยี AMD รวมไปถึงการปรับแต่งไดรเวอร์การ์ดจอให้รีดประสิทธิภาพระบบออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยในภาคนี้ก็เรียกได้ว่ายังคงจัดเต็มด้วยเทคโนโลยีมากมายอีกเช่นเคย
นอกจากทีมงานนี้ยังได้เปิดเผยตัวอย่างชื่อเกมที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโดยใช้เอนจิ้น Frostbite อีกมากมาย ตามภาพด้านบนนี้ครับ และยังมีอีกหลายเกมที่ไม่ได้เปิดเผยออกมา แต่เท่าที่ดูแล้ว น่าสนใจแทบทุกเกมเลย
ตัวของ Battlefield 4 ก็มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจออกมาเพิ่มเติมด้วยเช่นกันครับ ที่น่าสนใจก็เช่น
- Microsoft จัดการเพิ่มเติมปรับปรุง DirectX11.1 ใน Windows 8 ตามความต้องการของทีมผู้สร้างเกม เพื่อรีดประสิทธิภาพการแสดงผลออกมาให้ได้สูงสุดตามที่ DICE ต้องการ รับรองว่าใครที่เล่นบน Windows 8/8.1 น่าจะได้เห็นอะไรที่ “จัดเต็ม” อย่างแน่นอน (แต่เครื่องต้องแรงด้วยนะ)
- คอร์/ไลบรารี่ของเกมเป็นแบบ 64 บิต สนับสนุนการใช้งาน CPU หลายคอร์อย่างเต็มตัว ซึ่ง CPU ส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็รองรับ 64 บิตกันหมด ส่วนเครื่องที่ใช้ CPU 32 บิต คงเล่นเกมนี้ไม่ไหวอยู่แล้วล่ะนะ
- เอนจิ้น Frostbite ที่ใช้ในการประมวลผลทั้งหมดภายในเกมสามารถเรียกใช้งาน CPU ได้สูงสุด 8 คอร์แล้ว เรียกว่าเอื้อประโยชน์ให้ AMD เต็มที่เลยทีเดียว
- ตัวเกมถูกออกแบบมาให้สามารถเล่นได้ไม่ว่าจะใช้เป็นแค่ชิป APU ที่มี GPU ในตัว ไล่ไปจนถึงการ์ดจอแรงๆ หลายตัว crossfire กันได้ เรียกได้ว่า ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถเล่น Battlefield 4 ได้ (แต่เครื่องก็ต้องแรงระดับหนึ่งล่ะ)
- รองรับ Eyefinity เพื่อความสมจริงเหมือนเราได้อยู่ท่ามกลางสนามรบ แล้วต้องมองหาศัตรูรอบๆ ตัว
นอกจากนี้ยังได้มีการเปรียบเทียบเกี่ยวกับการพัฒนาเกมบนพีซีกับคอนโซลอีกด้วย ที่น่าสนใจก็เช่น
- การทำเกมบนพีซีจำเป็นจะต้องทำออกมาให้รองรับได้การเครื่องหลากหลายสเปคมากๆ ทำให้ลำบากที่จะสร้างเกมขึ้นมาเกมนึง
- ข้อจำกัดของ DirectX และ OpenGL ทำให้ไม่สามารถเรียกใช้งานคอร์ประมวลผลของ CPU ได้เต็มที่ ประกอบกับที่ผ่านมา โพรเซสหลายๆ อย่างก็กินการทำงานของ CPU หนักเกินไป
- ด้านการโปรแกรม/เขียนโค้ดเกมก็ทำได้ยาก เพราะรูปแบบการทำงานของระบบที่ไม่เอื้อต่อการรีดประสิทธิภาพ CPU และ GPU มากนัก
- เอนจิ้นของเกมมันล้ำหน้าเกินระบบปฏิบัติการมีอยู่หรือเอื้อให้เรียกใช้งานไปแล้ว เสมือนว่าเกิดคอขวดขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพออกมาไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น
- ชุดคำสั่ง API ต่างๆ บนพีซีพัฒนาไปช้ากว่าที่ควรจะเป็น
- ง่ายต่อผู้สร้างเกม เพราะมีแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันน้อย ยิ่งรุ่น Next-Gen อย่าง PS4 และ XB1 ยิ่งง่ายใหญ่ เพราะใช้ฐานของชิปสถาปัตยกรรม x86 แถมยังเป็นเทคโนโลยี GCN ของ AMD เองอีกด้วย
- เจ้าของฮาร์ดแวร์คอนโซลเปิดเผยข้อมูลเครื่องให้กับนักพัฒนาเกมแทบจะเต็มที่ ทำให้สามารถปรับแต่งเกมเพื่อรีดประสิทธิภาพได้ง่าย
- ตัวระบบปฏิบัติการมีขนาดเล็กเพราะทำออกมาเพื่อเล่นเกมเป็นหลัก ไม่กินทรัพยากรเครื่องเท่าพีซีที่ต้องทำได้ทุกอย่าง
- ไดรเวอร์การแสดงผลไม่ซับซ้อน เข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสามารถควบคุมการใช้งานหน่วยความจำได้ง่าย เพราะสเปคทุกอย่างถูกล็อคเอาไว้หมดแล้ว
Mantle คือชุดคำสั่งไดรเวอร์ตัวกลางรูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้การติดต่อสื่อสารกันระหว่างแอพพลิเคชัน(เกม) กับฮาร์ดแวร์ในสถาปัตยกรรม GCN ทำงานได้ไหลลื่นและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม โดยเป็นการปรับปรุงให้ไดรเวอร์มีลักษณะคล้ายกับในเครื่องเกมคอนโซล ส่งผลให้สามารถนำข้อดีจากการพัฒนาเกมบนคอนโซลมาอยู่บนพีซีได้ ซึ่งตัว Mantle นี้เกิดจากความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของ AMD กับ DICE/EA และแน่นอนว่าเกมแรกที่จะรองรับการทำงานร่วมกับ Mantle ก็คือ Battlefield 4 นั่นเอง
ซึ่งเอนจิ้น Frostbite 3 ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับ Mantle บน Windows ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และจะเข้ามาทำหน้าที่แทน DirectX 11 โดยตรง แน่นอนว่าการ์ดจอซีรี่ส์ใหม่อย่าง AMD Radeon R9 และ R7 จะรองรับ Mantle อย่างเต็มตัว ส่วนการ์ดจอซีรี่ส์ก่อนหน้านี้ก็ต้องรอดูกันอีกทีครับ
โดยข้อดีของ Mantle เมื่อใช้งานร่วมกับเอนจิ้น Frostbite ยกตัวอย่างก็เช่น
- มีขนาดเล็ก ทำงานได้เร็ว คล่องตัวกว่าเดิม
- สามารถเรียกใช้งานคอร์ประมวลผลของ CPU ได้สูงสุด 8 คอร์พร้อมๆ กัน
- แก้ปัญหาคอขวดของ GPU กับระบบโดยรวมลง
- ตัวระบบเอื้อให้ผู้ผลิตเกมสามารถปรับแต่งซอฟต์แวร์ในเชิงลึกได้ดีกว่าเดิมมาก
Mantle บน Battlefield 4 จะเปิดให้ใช้งานได้ในช่วงเดือนธันวาคม ส่วนตัวเกมจะเริ่มขายตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคมนี้ครับ ใครรออยู่หรือพรีออเดอร์ไปแล้ว ก็รอเล่น รออัพเดตกันได้เลย
โดยในงาน GPU14 ครั้งนี้ ทาง DICE ได้โชว์เดโมฉากใหม่ของ Battlefield 4 ในโหมด single player ชื่อว่า Angry Sea ด้วย ซึ่งเป็นเดโมที่ยังไม่เคยโชว์ที่ไหนมาก่อน เป็นฉากบนเรือรบ ซึ่งเราจะต้องหนีจากเรือที่ถูกจู่โจม รวมทั้งมีฉากให้เราบังคับเรือด้วย ดูแล้วน่าเล่นมากครับ เสียดายไม่มีให้ลองเล่นในงาน
คาดว่าเราน่าจะได้เห็นเดโมตัวใหม่เผยแพร่ออกมาในอีกไม่นานนี้แน่นอน ส่วนใครที่อยากชมจากคลิปที่สื่อต่างประเทศถ่ายในงาน คลิกที่คลิปด้านล่างนี้ได้เลย
กลับเข้ามาที่เรื่อง Mantle กันอีกเล็กน้อย ถ้าดูจากรูปโลก ก็จะมองเห็นภาพชัดเจนเลยครับว่า Mantle จะแบ่งย่อยเป็นสองส่วนคือ Mantle API กับ Mantle Driver ที่เชื่อมระหว่างแอพพลิเคชันเข้ากับคอร์ GCN ในการประมวลผล ซึ่งในเชิงเทคนิคแล้ว Mantle จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่นัก เอื้อให้นักพัฒนาเกมสามารถเข้าถึงและรีดความสามารถของ GPU ได้ง่ายขึ้นกว่าก่อนที่ใช้ DirectX เป็นตัวกลาง ทั้งยังเข้ากันได้กับมาตรฐาน DirectX ทำให้สามารถพอร์ตเกมจาก DirectX มารันบน Mantle ได้ง่ายด้วย แต่ทั้งนี้ตัวการ์ดก็ยังรองรับการทำงานร่วมกับ DirectX เช่นเคยนะครับ
นอกจากนี้ Mantle ยังถูกออกแบบมาให้สามารถถูกเรียกใช้งานคำสั่งได้มากกว่าปัจจุบันถึง 9 เท่า โดยที่ไม่กินกำลัง CPU มากนัก ทำให้นอกจากจะแสดงผลได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้กินทรัพยากรระบบน้อยลงไปอีก และส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือมันมีรูปแบบการทำงานที่ใกล้เคียงกับระบบภายในเครื่องคอนโซล Next-Gen อย่าง PS4 และ XB1 ซึ่งจะทำให้การพอร์ตเกมทำได้ง่ายขึ้นและมีคุณภาพกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างยิ่ง (ไม่แน่ว่าอาจจะทำให้จุดเด่นของคอนโซลหายไปด้วย) ทั้งนี้ AMD จะเปิดเผยข้อมูลเชิงเทคนิคเกี่ยวกับ Mantle เต็มๆ อีกทีในงาน AMD Developer Summit ที่จะจัดในช่วงวันที่ 11-14 พฤศจิกายนนี้ครับ รอติดตามกันให้ดี
ซึ่งด้วยองค์ประกอบทั้งหมด ไล่มาตั้งแต่ตัวคอร์ประมวลผลสถาปัตยกรรม GCN, ระบบเสียง AMD TrueAudio Technology, การก้าวเข้าสู่การเล่นเกมที่ความละเอียดภาพสูงขึ้นไปเป็นระดับ 4K รวมเข้ากับโปรเจ็กต์ Mantle จะทำให้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับ AMD ในการเป็นผู้นำด้านเกมอย่างแท้จริง และน่าติดตามมากๆ ครับว่า AMD ยุคใหม่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเล่นเกมที่แข็งแกร่งกว่าเดิมขนาดไหน แต่น่าจะดีกว่าเดิมแน่นอน เพราะมีของดีอยู่ในมือแล้วแทบจะครบทุกด้านเลย
ส่วนด้านล่างนี้เป็นภาพบางส่วนของบูทจัดแสดงเดโมเกมและแอพพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยีของ AMD ครับ
ที่น่าสนใจก็คือเกม Lichdom ที่มีตั้งอยู่สองบูท บูทแรกเป็นการรันเดโมเกมที่ความละเอียดระดับ 4K บนจอเดียว ส่วนอีกบูทหนึ่งเป็นการรันแบบ 3 จอด้วยเทคโนโลยี Eyefinity ส่วนตัวผมมาลองยืนเล่นบูทหลังครับ เดโมเกมสนุกใช้ได้เลยทีเดียว เกมรันด้วยการ์ดจอ AMD Radeon R9 (น่าจะโมเดล 290) เพียงตัวเดียว ภาพที่ออกมาจัดว่าดีเลยครับ แต่ยังมีหน่วงๆ บ้างตรงช่วงที่มีเอฟเฟ็คท์ๆ เยอะ คาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ยังเป็นเดโมเบื้องต้นอยู่ เพราะขนาดจะเข้าโหมดเดโมยังต้องพิมพ์คำสั่งลง console ของเกมเลย ใครที่เบื่อ FPS แนวยิงกัน Lichdom ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในปีหน้าครับ สามารถผสมเวทย์มนต์ ซึ่งเวทย์มนต์แต่ละประเภทก็ให้ผลที่แตกต่างกันออกไปอีก
ด้านบนนี้คือคลิปเทรลเลอร์เกม Lichdom ครับ
บูทที่น่าสนใจต่อมาก็คือเดโมคัตซีนเกม Ruby ที่ใช้เทคโนโลยี TressFX ทำให้ผมปลิวสยายสวยงาม แน่นอนว่ารันด้วยการ์ดจอเพียงใบเดียวคือ AMD Radeon R9 290X อีกเช่นกัน
ด้านบนนี้ก็เป็นคลิปเดโมที่มีสื่อต่างประเทศถ่ายมาจากในงาน GPU14 Tech Day นะครับ เชิญรับชมกันได้
ฝั่งของแอพพลิเคชัน ที่น่าสนใจก็มี Adobe CS7 ที่นำความสามารถในการเรนเดอร์ด้วยชุดคำสั่ง OpenCL มาโชว์ถึงพลังในการประมวลผลจาก GPU
ใครที่รักการขับรถ และเงินถึง คงน่าจะสนใจกับเดโมตัวนี้ครับ มันคือโชว์การเล่นเกม DiRT 3 บนจอ 4K สามจอในโหมด Eyefinity ซึ่งเท่าที่ผมยืนดูคนอื่นเล่น (มีคนยืนเล่นตลอด เลยไม่ได้ลองเอง) ภาพลื่นมากทีเดียว ยิ่งถ้ามองจากมุมคอนโซลคนขับ ยิ่งเหมือนได้ขับรถอยู่จริงๆ เลย
แม้เกม Devil May Cry (DmC) จะค่อนข้างเก่าแล้ว แต่ก็ยังคงมาพร้อมกับเทคโนโลยีด้านเสียงที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปกว่าเก่าได้อีกเช่นกันครับ ถ้ามีชุดเครื่องเสียงดีๆ นี่ คงเล่นเกมสนุกมากขึ้นอีกเยอะเลย
บูทนี้เป็นการโชว์เดโมเกม Thief ที่มาพร้อมเทคโนโลยี AMD TrueAudio Technology ที่ทำให้สามารถจำลองเสียงรอบทิศทางและ reverb ได้สมจริงยิ่งขึ้น ส่วนตัวผมก็ไม่ได้เล่นบูทนี้เหมือนกันครับ คนต่อคิวเยอะมาก เวลาค่อนข้างกระชั้นด้วย
ส่วนบูทนี้เป็นบูทโชว์เกม Saint Row IV บนโหมด Eyefinity ภาพใหญ่เต็มตาดีเลย ถ้าต่อซัก 6 จอ(แนวนอน) หรือ 5 จอ(แนวตั้ง) คงจะสนุกมากเลยกับเกมแนว open world อย่าง Saint Row
ปิดท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ Mr. Carl Wakeland ผู้ดูแลและอยู่เบื้องหลังระบบเสียงต่างๆ ให้กับ AMD ซึ่งประเด็นในการสัมภาษณ์หลักๆ ก็จะอยู่ที่เรื่องเทคโนโลยี AMD TrueAudio ครับ
ซึ่งผมก็ขอสรุปประเด็นที่ได้จากการสัมภาษณ์ออกมาเป็นในภาพรวมเลยแล้วกัน (คนในภาพที่กำลังสัมภาษณ์อยู่ไม่ใช่ผมนะครับ เป็นตัวแทนจากเว็บไซต์อื่นที่ได้สัมภาษณ์พร้อมกันกับผม)
ภาพรวมของเทคโนโลยี AMD TrueAudio
โดยรวมแล้ว เทคโนโลยี TrueAudio จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้การประมวลผลด้านเสียงทำออกมาได้ดีขึ้น รบกวนภาระ CPU น้อยลงอย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วครับ ซึ่งในด้านของคุณภาพเสียงอาจจะเห็นผลชัดขึ้นบ้าง แต่จุดที่จะแตกต่างจากปัจจุบันอย่างชัดเจนก็คือจำนวนปริมาณของเสียงที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเรื่องการลดภาระการทำงานของ CPU ลง ทำให้ระบบสามารถใช้งาน CPU ในการประมวลผลอย่างอื่นได้ดีขึ้น เพราะส่วนนี้การ์ดจอจะเข้ามาทำหน้าที่แทน
การประยุกต์นำ AMD TrueAudio มาใช้งาน
หลักๆ แล้วก็จะเป็นในด้านของเกมครับ ยังไม่มีแผนที่จะนำมาใช้โปรแกรมทั่วไป เพลงและภาพยนตร์ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากจุดประสงค์หลักของเทคโนโลยีนี้ก็คือ ทำออกมาเพื่อให้คอเกมได้สัมผัสถึงประสบการณ์การเล่นเกมที่เหนือกว่าที่เคยมีมาทั้งหมด อีกทั้งเอฟเฟ็คท์ต่างๆ ที่ TrueAudio ออกแบบมาก็ทำมาให้เอื้อกับเกมมากกว่า แต่ไม่แน่ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการนำ TrueAudio มาใช้งานร่วมกับการใช้งานรูปแบบอื่นด้วย เพราะจากตามทฤษฎีแล้วมันเป็นไปได้มากทีเดียวที่มันจะเอื้อประโยชน์ให้กับการใช้งานรูปแบบอื่นๆ
สำหรับในแง่การใช้งาน TrueAudio นั้น ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เฟส output ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะผ่านช่องเสียบแจ็ค 3.5 มิลลิเมตรตามปกติ, USB หรือจะ HDMI ก็สามารถทำได้เช่นเคย เพราะระบบ TrueAudio เป็นเพียงกระบวนการประมวลผลภายในระบบ ก่อนที่จะส่งข้อมูลเสียงมายังหน่วยประมวลผลเสียง (การ์ดเสียง/ชิปเสียง) เพื่อขับเสียงออกมาในลำดับต่อไป ดังนั้น อินเตอร์เฟสการเชื่อมต่อภายนอกก็ยังคงใช้งานเหมือนเดิมได้สบายๆ (USB 2.0 ก็เพียงพอแล้วด้วย) แต่เรื่องของคุณภาพเสียงก็ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ปล่อยเสียงด้วยนะ ส่วนเรื่องของเกม ถ้าเกมนั้นรองรับ TrueAudio และการ์ดจอของเรารองรับ ก็สามารถใช้งานได้แบบอัตโนมัติเลย ไม่จำเป็นต้องตั้งค่าใดๆ เพิ่มเติม
ส่วนปัญหาข้อที่ว่า TrueAudio จะไปชนหรือมีปัญหากับเทคโนโลยีเสียงอื่นๆ หรือเปล่า ข้อนี้ก็รับรองเลยครับว่าไม่มีปัญหาใดๆ เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า TrueAudio เป็นแค่กระบวนการภายใน ก่อนที่จะประมวลผลและขับเสียงออกมา
เราจะได้เห็น TrueAudio บน APU และบนโน๊ตบุ๊คหรือเปล่า ?
ข้อนี้ทาง Mr. Carl และทาง AMD ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ครับ เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน (และคงกำลังศีกษาพัฒนากันอยู่) สำหรับชาวโน๊ตบุ๊คและชาว APU ก็คงต้องรอกันต่อไป หรือถ้ารอไม่ไหว ก็เตรียมจัดการ์ดจอรุ่นใหม่กันไปก่อนได้เลย รับรองว่าเตรียมเจอกันได้ช่วงเดือนหน้าเป็นต้นไป
สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทาง AMD ประเทศไทยสำหรับการเลือกและอำนวยความสะดวกให้ทาง NotebookSpec เราได้เป็นตัวแทนไปงานเปิดตัวในครั้งนี้นะครับ
ปิดท้ายด้วยภาพการ์ดจอแต่ละรุ่นแบบชัดๆ ส่งตรงจาก AMD เลย
AMD Radeon R9 290X
AMD Radeon R9 290
AMD Radeon R9 280X
AMD Radeon R9 270X
AMD Radeon R7 260X
AMD Radeon R7 250