ในช่วงกลางปีหน้า เราจะได้เห็นชิปประมวลผลตระกูล Core รุ่นที่ 4 จาก Intel (4th Generation Intel Core Processor) ลงมาทำตลาด โดยจะมีโค้ดเนมที่หลายท่านคงพอคุ้นหูนั่นคือ Intel Haswell ที่อาจจะถึงขั้นเปลี่ยนแปลงวงการพีซีคอมพิวเตอร์กันได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องของการใช้พลังงานที่น่าจับตามองมากว่าจะพัฒนาขึ้นจาก Intel Ivy Bridge ในปัจจุบันได้ขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับชิปประมวลผลสถาปัตยกรรมแบบ ARM ที่นำหน้าเรื่องการใช้พลังงานมากนานมากแล้ว
โดยใน Intel Haswell นั้น มีการตั้งเป้าไว้ว่าอัตราการใช้พลังงาน (TDP) สำหรับโนัตบุ๊กและ Ultrabook ให้อยุ่ในช่วง 15-20W เท่านั้น จากที่ในปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 35-45W ด้วยกัน ซึ่งส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ระบบมีการกินไฟที่ต่ำลงได้ ก็เนื่องมาจากการเพิ่มระดับการทำงานของชิปประมวลผลเข้าไปอีกหนึ่งชั้น ซึ่งก็คือการเพิ่ม Sleeping State S0ix (x แทนตัวเลขระดับ) เข้าไปเพิ่ม เช่น Soi1 หรือ S0i3 ที่จะอยู่ตรงกึ่งกลางของช่วงระดับ S0 กับ S1 ยกตัวอย่างเช่นการใช้งานทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ S0 และเมื่อปิดฝาจอลงมา จากเดิมที่จะลงมาอยู่ในระดับ S3 ก็จะเป็น S0ix แทน ซึ่งมีการกินไฟเทียบเท่ากับ S3 แต่สถานะของชิปประมวลผลยังอยู่ในสภาวะพร้อมปลุกขึ้นมาทำงานได้ด้วยความเร็วเหมือนว่าเราไม่ได้ sleep เครื่องลงไปเลย ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงานและการเปิดเครื่องกลับมาใช้งานที่เร็วกว่าเดิมมาก ซึ่งขั้นตอนที่คล้ายคลึงกันนี้มีอยู่แล้วใน OS X ดังจะสังเกตได้ว่าเครื่องแมคจะ sleep และเปิดเครื่องขึ้นมาได้เร็ว รวมถึงระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างยาวนานกว่าโน๊ตบุ๊คและ Ultrabook หลายๆ ตัวอยู่พอสมควร แต่ใน Intel Haswell นั้นจะมีการติดตั้งระบบ S0ix มาในชิปเลย
ด้วยการจัดการสถานะของชิปประมวลผลใหม่นี้ น่าจะทำให้ Intel Haswell ที่ยังคงใช้ทรานซิสเตอร์ระดับ 22nm เช่นเดียวกับ Intel Ivy Bridge มีอัตราการประหยัดพลังงานที่ดีกว่ารุ่นก่อนมาก โดยในงาน IDF 2012 ทาง Intel ได้ทดสอบระบบด้วย Unigine Heaven จากการประมวลผลของชิป Haswell พบว่ามีการกินไฟในระหว่างประมวลผลเพียง 8W เท่านั้นเอง (แต่ไม่แน่ชัดว่าใช้ GPU อะไรในการทำงานนะครับ) ในขณะที่ Intel Ivy Bridge นั้นกินไฟราวๆ 17W ด้วยกัน
แต่ทั้งนี้ส่วนของการประมวลผลก็ได้รับการปรับปรุงขึ้นจากปัจจุบันด้วย แต่โดยมากจะเป็นการปรับในเชิงลึกพอสมควร เช่นการเพิ่มแบนด์วิธของแคช การใส่ชุดคำสั่งเพิ่มเพื่อช่วยให้ปริมาณข้อมูลการประมวลผลในแต่ละรอบสามารถทำได้มากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มชุดคำสั่งเกี่ยวกับด้านความปลอดภัย เช่นการถอดรหัสที่ดีขึ้นจากตัวชิป ซึ่งจะมาเอื้อกับระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ เช่น Intel Anti-Theft ในปัจจุบันได้ดีขึ้น
ระบบ L3 Cache ก็มีการปรับเปลี่ยนภายในด้วยเช่นกัน จากที่ตั้งแต่สมัย Sandy Bridge ภายในชิปจะมีการตั้งความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลใน L3 Cache ในระดับเดียวกันกับความเร็วของ CPU (ที่ไม่มีตัวคูณ) ทำให้ความเร็วในการเข้าถึง L3 Cache ขึ้นอยู่กับความเร็วของ CPU เสมอ แล้วทีนี้มันมีปัญหาตรงที่เวลาการทำงานที่ไม่ใช่ CPU หนักมาก แต่เน้น GPU เป็นหลัก ทำให้ระบบสั่งลดความเร็วของ CPU ลง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็กลายไปมีส่วนให้ GPU เข้าถึง L3 Cache ได้ช้าลงด้วย แม้ว่าวิธีนี้จะช่วยให้ระบบประหยัดพลังงานขึ้นได้จริงๆ และ CPU สามารถเข้าถึง L3 ได้เร็วมากก็ตาม
แต่มาใน Intel Haswell นั้น Intel เลือกที่จะประยุกต์เทคโนโลยีการใช้งาน L3 ของสถาปัตยกรรม Nehalem กลับมาใช้อีกครั้ง โดยการสร้างให้ L3 มีความเร็วเฉพาะของตนเองไปเลย ทำให้ไม่ว่าจะ CPU หรือ GPU ที่จะใช้งาน L3 ต้องถูกจำกัดที่ความเร็วของ L3 ไปนิดหน่อย แต่ก็ตัดปัญหาเรื่องการปรับความเร็วไปได้ ซึ่งแน่นอนว่า Intel ก็มีการปรับปรุงให้เกิดปัญหาให้น้อยที่สุด โดยการเพิ่มความเร็วของ L3 ให้มากกว่าในชิปรุ่นก่อนๆ รวมไปถึงการเพิ่มแบนด์วิธส่งข้อมูลอีกด้วย ทำให้โดยรวมแล้วระบบส่วนนี้ไม่ได้ช้าลงจากเดิมเลย
ส่วนในกลุ่มของ GPU นั้นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยด้วย นั่นคือการแบ่งย่อยเป็นสามรุ่นคือ GT1, GT2 และ GT3 ที่ความเร็วและความสามารถจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่โดยพื้นฐานก็คือรองรับ DirectX 11.1, OpenCL 1.2 และ OpenGL 4.0
จากข้อมูลของ Intel Haswell บางส่วนข้างต้นนี้ ก็พอจะบอกได้ว่า Intel ตั้งเป้าจะให้ชิปตระกูล Core รุ่นที่ 4 นี้เป็นชิปที่มีอัตราการประหยัดพลังงานที่เหนือกว่าชิปรุ่นก่อนหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเอื้อกับการใช้งานในเชิงอุปกรณ์พกพาอย่างโน๊ตบุ๊คและ Ultrabook มากทีเดียว