ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป คาดว่าเราจะได้เจอกับพลพรรคโน๊ตบุ๊คที่ใช้ชิปประมวลผลในตระกูล Intel Ivy Bridge กันมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องระดับ mainstream เรามาเริ่มกันจาก ASUS K45VM ในรีวิวนี้กันก่อนเลยครับ
ตัวของ ASUS K45VM นั้น เรียกได้ว่าถ้าดูแต่ภายนอกนี่ไม่รู้กันแน่ๆ ว่าข้างในมาพร้อมกับสเปกที่เกินหน้าเกินตาโน๊ตบุ๊คในตลาดตอนนี้หลายๆ เครื่องไปมากทีเดียว เนื่องด้วยบอดี้ของ ASUS K45VM นั้นเป็นบอดี้ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับซีรี่ย์ปัจจุบันที่วางขายอยู่ในตอนนี้หลายๆ ตัว โดยมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในบางจุดเท่านั้น แต่ข้างในนั้นจัดว่าจัดจ้านพอตัว มีพระเอกเด่นเป็น CPU อย่าง Intel Core i7-3610QM และการ์ดจอตัวใหม่ล่าสุดอย่าง NVIDIA GeForce GT 630M ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาเจาะลึกกันภายหลังครับ เอาเป็นว่าเราไปดูสเปกของ ASUS K45VM กันก่อนดีกว่า
ตัว ASUS K45VM นั้น จุดเด่นๆ ก็จะไปอยู่ที่ CPU กับชิปเซ็ตเท่านั้นครับ โดย CPU นั้นเป็น Intel Core i7-3610QM ที่มีความเร็วปกติอยู่ที่ 2.30 GHz และสามารถใช้งาน TurboBoost แล้วเร่งความเร็วในการประมวลผลได้สูงสุดเป็น 3.30 GHz แรงสะใจกันไปข้างหนึ่งเลยคราวนี้ ส่วนชิปเซ็ตก็มาพร้อมชิปเซ็ตตัวใหม่อย่าง Intel HM76 Express ที่ออกแบบมาสำหรับ Intel Ivy Bridge โดยเฉพาะ โดยรองรับการควบคุม USB 3.0 มาในตัว ทำให้ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คไม่ต้องติดตั้งชิปแยกเพื่อจัดการ USB 3.0 อีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ยังรองรับเทคโนโลยีการส่งภาพออกจอนอกอย่าง Intel WiDi มาด้วยในตัว ซึ่งถ้าใช้ร่วมกับจอที่มีเทคโนโลยี WiDi ด้วยแล้ว คราวนี้เวลาจะนำเสนองานก็ไม่จำเป็นต้องใช้สายในการต่อกับจอหรือโปรเจ็กเตอร์อีกต่อไป
ในส่วนอื่นๆ ที่เด่นรองลงมาก็คือการ์ดจอที่ใช้เป็น NVIDIA GeForce GT 630M ที่มาพร้อมแรมการ์ดจอ 2 GB ด้วยกัน หรือถ้าในโหมดประหยัดพลังงาน/ไม่มีการประมวลผลมา เครื่องก็จะสลับไปใช้ Intel HD Graphics 4000 แทน ซึ่งประสิทธิภาพนั้น เราจะมาดูกันภายหลังครับ ส่วนสเปกอื่นๆ ก็จัดได้ว่าอยู่ในระดับมาตรฐานของโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะแรมจำนวน 4 GB, HDD ความจุ 500 GB, จอขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด 1366 x 768 และพอร์ตเชื่อมต่อ USB 3.0 ให้มา 2 พอร์ตด้วยกัน
ต่อไปเรามาดูโฉมหน้าของ ASUS K45VM กันครับ
ฝาหลังรวมไปถึงตัวเครื่องของ ASUS K45VM โดยหลักจะใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบ โดยฝาหลังจะเป็นพลาสติกมันเงาสีน้ำเงินเข้มมากๆ จนเกือบดำ ภายในมีการสกรีนลายจุดสีขาวไว้ ความคงทนของฝาหลังจัดได้ว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดีทีเดียว สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ รอยนิ้วมือก็ไม่เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายนัก
ส่วนภายในนั้นก็ใช้พลาสติกเช่นเดียวกับฝาหลัง แต่เนื้อเป็นคนละแบบกันครับ โดยส่วนของที่รองข้อมือจะมีการผสมอะลูมิเนียมเข้ามาด้วย ในส่วนด้านบน ซึ่งช่วยในการระบายความร้อนได้ในระดับหนึ่ง ส่วนกรอบคีย์บอร์ดและขอบจอนั้นจะใช้เป็นพลาสติกสีดำอ่อนๆ แทน ถ้าให้สรุปเรื่องหน้าตาโดยรวม จัดว่าไม่สวยจนโดดเด่นครับ แต่ออกไปในทางเรียบๆ เน้นการใช้งานมากกว่ารูปลักษณ์ อะไรประมาณนั้น
จอของ ASUS K45VM นั้นใช้เป็นจอกระจกที่มีแสงสะท้อนจากด้านหลังพอสมควร สีสันสดใส ขนาดจออยู่ที่ 14 นิ้ว ความละเอียด 1366 x 768 ตามปกติครับ
ต่อมาก็ลงมาดูกันที่คีย์บอร์ด ที่รูปแบบของปุ่มก็ยังคงเป็น chiclet เช่นเดิม ส่วนคนที่ห่วงว่าจะมีการติดสติ๊กเกอร์ภาษาไทยมาด้วยหรือไม่ รับรองได้ว่าเครื่องขายจริงมีแน่ๆ ครับ ทางด้านซ้ายบนจะเป็นตำแหน่งของปุ่มเปิดเครื่อง ที่ถ้าเครื่องเปิดทำงานอยู่ ก็จะมีไฟสีขาวติดอยู่ให้ผู้ใช้ทราบ และแผงจุดๆ ที่อยู่เหนือปุ่มคีย์บอร์ดนั้น ด้านในมีลำโพงซ่อนอยู่ 2 ตัวด้วยกัน เสียงที่ได้ก็อยู่ในระดับกลางๆ ครับ
ทัชแพดของ ASUS K45VM นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปจากซีรี่ย์เก่าๆ นั่นคือหันมาใช้ทัชแพดแบบไม่มีปุ่มแยกอีกต่อไป แต่ใช้เป็นปุ่มซ่อนอยู่ใต้แผ่นทัชแพดแทน ซึ่งการใช้งานก็จัดว่าอยู่ในระดับกลางๆ ครับ สามารถใช้งานมัลติทัชได้ เช่นเดียวกับทัชแพดของโน๊ตบุ๊คทั่วไปในปัจจุบัน ส่วนถัดลงมาด้านล่างก็จะเป็นแถบของไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง
ลงมาดูที่ฝาด้านล่างกันบ้าง วัสดุที่ใช้ก็เป็นพลาสติกเช่นเคย แต่มีการลงลายไว้ ทำให้ไม่ถึงกับเรียบเกินไป แต่จะมีส่วนที่โป่งออกมากว่าส่วนอื่นเล็กน้อย ภายในก็เป็นตำแหน่งที่ตั้งของพัดลมระบายอากาศครับ ช่องระบายอากาศของใต้เครื่องก็มีไม่เยอะมากนัก แต่จุดที่ค่อนข้างเด่นหน่อยก็คือตรงมุมเครื่องฝั่งหลังจะมีแป้นยกตัวเครื่องให้สูงกว่าระดับปกติประมาณ 1 เซนติเมตร ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยในการระบายอากาศใต้เครื่องให้หมุนเวียนได้ดีขึ้น
แบตเตอรี่ของ ASUS K45VM นั้นก็เป็นแบบ Li-Ion ความจุ 4700mAh 50Wh ซึ่งก็อยู่ในระดับมาตรฐานของโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันแล้ว เดี๋ยวเรามาดูกันว่าจะสามารถใช้งานได้ยาวนานขนาดไหน
สันด้านหน้าของตัวเครื่องมีช่อง Card reader ซ่อนอยู่ด้านล่าง
ฝั่งขวาของเครื่องก็จะมีช่องเสียบหูฟัง, ช่องเสียบสายไมค์, USB 2.0, DVD writer และช่องล็อกเครื่อง Kensington Lock
ส่วนด้านหลังนั้นไม่มีอะไรครับ มีแต่แบตเตอรี่เท่านั้น
ปิดท้ายด้วยฝั่งซ้ายที่มีช่องเสียบสาย adapter, LAN, ช่องระบายความร้อน, VGA, HDMI และ USB 3.0 อีก 2 พอร์ต
ต่อไปก็เป็นเรื่องของผลเทสที่หลายๆ คนรอคอยแล้วนะครับ เดี๋ยวจัดให้แบบเต็มๆ เลยตัวนี้
*** ถ้ารูปไหนเล็กไป สามารถคลิกเพื่อดูรูปขนาดเต็มได้ครับ ***
Windows Experience Index
คะแนนส่วนของ CPU นั้นเรียกได้ว่าสูงเลย เพราะสามารถเก็บคะแนนไปได้ถึง 7.6 คะแนน ส่วนการ์ดจอก็ได้ไป 6.7 คะแนนเท่ากันทั้งสองด้าน จะมีส่วนที่ดึงคะแนนลงก็เป็นแรมและ HDD ที่ได้ 5.9 คะแนนเท่านั้น
CPU-Z
มาดูข้อมูลของ Intel Core i7-3610QM กันบ้าง ก็อย่างที่เราทราบๆ กันว่ามันอยู่ในสถาปัตยกรรม Intel Ivy Bridge ที่ระดับ 22 นาโนเมตร โดยมาในความเร็ว 2.30 GHz พร้อมสามารถเร่งพลังด้วยฟีเจอร์ TurboBoost ขึ้นไปได้สูงสุด 3.30 GHz มีคอร์ประมวลผลทั้งสิ้น 4 คอร์ 8 เธรด ส่วนหน่วยความจำ L3 Cache ก็ให้มาที่ 6 MB เท่าๆ กับ Core i7 ของตระกูล Intel Sandy Bridge ส่วนแรมนั้นมีติดตั้งมาเป็น DDR3-1600 จำนวน 4 GB ด้วยกัน
ที่นี้มาดูสเปกที่ได้จากโปรแกรม AIDA กันบ้างครับ ผลก็ตรงกับ CPU-Z เลยทีเดียว
GPU-Z