ASUS ROG Strix G16 โน๊ตบุ๊คเกมมิ่งตัวแรงพลัง Ryzen 9 9955HX3D เครื่องแรกของประเทศไทย!

เกมเมอร์รู้กันว่าซีพียู AMD Ryzen X3D เหมาะกับการเล่นเกมมาก แต่ยังไม่มีเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องไหนได้ติดชิปเซ็ตรุ่นนี้มาจน ASUS ROG Strix G16 วางขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการกับราคา 89,990 บาท หาซื้อได้ผ่านทาง ASUS Online Store และร้านคอมพิวเตอร์ชั้นนำทั่วประเทศได้แล้ว ผู้เป็นเจ้าของจะได้สัมผัสกับพลังของเทคโนโลยี AMD 3D V-Cache รุ่น 2 ซึ่งซีพียูมี L3 Cache ใหญ่ขึ้นเป็นพิเศษ สูงสุด 128 MB ให้มีจุดพักข้อมูลเรียกใช้บ่อยมากขึ้น เวลาโปรแกรมเรียกใช้ไฟล์ไหนบ่อยๆ ก็นำส่งไปประมวลผลต่อได้ทันทีไม่ต้องไปดึงจาก SSD ให้เกิดความหน่วงสะสมในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งเกมต่างๆ จะได้ประโยชน์จาก 3D V-Cache เต็มๆ ซึ่งจะสัมผัสได้เวลาเล่นเกมแล้วภาพเวลาเล่นจะไหลลื่นต่อเนื่องไม่เกิดอาการเฟรมเรทตกวูบหรือกระตุกให้เห็นสักครั้ง
นอกจากข้อดีของ AMD Ryzen X3D ก็ได้จีพียู NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti พร้อมเทคโนโลยี DLSS 4 กับ Multi Frame Generation เอาไว้เร่งเฟรมเรทเวลาเล่นเกมต่างๆ ได้ ถึงจะเป็นจีพียูตัวรองแต่ในแง่การเล่นเกมและใช้งานจริงก็ทรงพลังเหลือเฟือให้เกมเมอร์ปรับกราฟิคระดับสูงสุดแล้วเล่นได้ทุกเกม พอประกบชุดระบายความร้อน Tri-Fan กับโลหะเหลว (Liquid Metal) จาก Thermal Grizzly แล้วก็ตัดปัญหาเรื่องความร้อนรบกวนระหว่างใช้งานได้เลย ด้านหน้าจอ ROG Nebula Display ความละเอียด 2.5K ขอบเขตสี 100% DCI-P3 ทำให้สีสันบนหน้าจอคมชัดสมจริง พร้อมค่า Refresh Rate สูง นอกจากเล่นเกมก็ใช้ทำงานกราฟิคแต่งสีตัดต่อวิดีโอก็ได้ ครบเครื่องทั้งมิติการทำงานและความบันเทิงในเครื่องเดียว

NBS Verdicts

ขึ้นชื่อว่าเป็น ASUS ROG ก็ได้ใจเกมเมอร์ไปครึ่งหนึ่งแล้ว และ ASUS ROG Strix G16 ก็ได้สเปกแรงทรงพลังสมกับการเป็น Desktop replacement laptop มาก จะเอาไว้เล่นเกมชั้นนำเปิดกราฟิคสูงสุด เสริมด้วย DLSS 4 และ Multi Frame Generation เข้าไปจะเล่นบนหน้าจอความละเอียด QHD เท่ากับของหน้าจอ 16″ หรือขยับไป UHD ก็ได้สบายมาก ต้องยกความดีให้ AMD Ryzen 9 9955HX3D กับ NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti โดยไม่ต้องสงสัยและข้อดีของชิปเซ็ต AMD 3D V-Cache ทำให้เวลาทดสอบด้วยโปรแกรม Benchmark แล้วช่วงระยะเฟรมเรทต่ำสุดกับเฉลี่ยไม่หนีกันมากและเวลาเล่นก็ได้ความต่อเนื่อง ไม่เกิดช่วงเฟรมเรทลดกะทันหันแม้แต่น้อย
นอกจากเล่นเกม ในแง่การทำงานก็ทำได้เพราะมีคอร์เธรดเยอะมากพอจะรันโปรแกรมตระกูล Adobe Suite, SketchUp, AutoCAD ฯลฯ ก็ทำได้สบาย อาจเพิ่ม RAM เป็น 32~64GB ก็ใช้งานได้ไม่มีปัญหา ประกอบกับหน้าจอมีขอบเขตสี 100% DCI-P3 ได้การการันตีความแม่นยำสีจาก PANTONE ดังนั้นถ้าไม่เล่นเกมจะใช้เป็นโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์ก็เหมาะเช่นกัน หรือถ้าเป็นครีเอเตอร์สายเล่นเกม เวลาเก็บฟุตเทจจากเกมมาแล้วก็ตัดต่ออัปโหลดขึ้นช่อง YouTube ของเราได้เช่นกัน
นอกจากมีข้อดีหลากหลายอย่าง ใช้งานเป็นคอมทำงานหรือเล่นเกมก็ได้ก็จริงแต่ก็มีข้อสังเกตเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างไม่มีเซนเซอร์สแกนใบหน้าหรือลายนิ้วมือติดมาให้อย่างแบรนด์คู่แข่งที่มีเซนเซอร์สแกนใบหน้าติดมาให้ใช้ และการใช้ Liquid Metal เพื่อระบายความร้อนจะลดอุณหภูมิได้ดีมากก็จริงแต่เวลามีปัญหาก็ต้องส่งเครื่องไปซ่อมในศูนย์บริการเท่านั้น ไม่เหมาะกับบริการแบบ Onsite service นัก
ข้อดีของ ASUS ROG Strix G16
- ซีพียู AMD Ryzen 9 9955HX3D มี L3 Cache และคอร์เธรดเยอะพิเศษเหมาะกับการเล่นเกม
- จีพียูเป็น NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti รองรับ NVIDIA DLSS 4 และ Multi Frame Generation
- ชุดระบายความร้อน ROG Intelligence Cooling แบบ Tri-Fan ระบายความร้อนได้รวดเร็ว
- หน้าจอมีขนาด 16″ 2.5K ค่า Refresh Rate 240Hz รองรับ NVIDIA G-SYNC, Dolby Vision HDR
- ขอบเขตสีหน้าจอ 100% DCI-P3 และได้การันตีความเที่ยงตรงสีจาก PANTONE
- ติดพอร์ต USB-C 4.0 มาให้ 2 ช่อง ทั้ง Full Function และ DisplayPort ใช้ต่ออุปกรณ์เพิ่มได้มาก
- คีย์บอร์ดเป็น 4-Zone RGB ได้สีสันสวยงามปรับแต่งเอฟเฟคแสงสีได้ตามต้องการ
- ติดตั้ง Hotkeys มาให้ 4 ปุ่มเหนือคีย์บอร์ด ไว้ตั้งค่าคีย์ลัดกดใช้งานเพิ่มได้
- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียรผ่านทาง Wi-Fi 6E
- อัปเกรด RAM เพิ่มได้มากสุด 64GB DDR5 ให้ใช้ทำงานกับโปรแกรมใหญ่ได้ดีขึ้น
- มีช่อง M.2 NVMe SSD อินเทอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ถึง 2 ช่อง ให้ใส่ไดรฟ์เพิ่มได้
- มีฟังก์ชั่น NVIDIA Advanced Optimus ให้การ์ดจอเลือกตัดต่อการทำงานได้โดยอัตโนมัติ
- แป้นทัชแพดเป็นแบบ NumberPad สามารถแตะพิมพ์ตัวเลขได้สะดวกขึ้น
ข้อสังเกตของ ASUS ROG Strix G16
- ไม่มีเซนเซอร์สแกนนิ้วมือหรือใบหน้าติดตั้งมาให้ ในระดับเรือธงเช่นนี้ถ้ามีให้สักแบบก็จะดี
- ชุดระบายความร้อนเป็น Liquid Metal เวลาต้องเซอร์วิสเครื่องต้องส่งเข้าศูนย์บริการเท่านั้น
รีวิว ASUS ROG Strix G16
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector, Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
- Gallery
Specification

ASUS ROG Strix G16 เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงพร้อมดีไซน์สวยเฉพาะตัวและสเปกแรงทรงพลังพร้อมใช้เล่นเกมชั้นนำและทำงานได้ดีทุกแบบ และรหัสนี้พิเศษกว่า ROG Strix รุ่นอื่นเพราะได้ซีพียู AMD Ryzen รุ่นพิเศษพร้อม 3D V-Cache เหมาะกับการเล่นเกมยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
CPU | AMD Ryzen 9 9955HX3D แบบ 16 คอร์ 32 เธรด ความเร็ว 2.5~5.4GHz สถาปัตยกรรม Zen 5 3D V-Cache (128 MB L3 Cache) |
GPU | NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti VRAM 12GB GDDR7 175W TGP 992 AI TOPS CUDA Cores 5888 Unified |
Storage | M.2 NVMe SSD 1TB PCIe 4.0 x4 อัปเกรดเพิ่มได้ 1 ช่อง |
Memory | 16GB DDR5 บัส 5600MHz รองรับความจุสูงสุด 64GB |
Display | ROG Nebula Display 16″ 2.5K (2560*1600) พาเนล IPS Refresh Rate 240Hz Response Time 3ms NVIDIA G-SYNC 100% DCI-P3 PANTONE Validated Dolby Vision HDR MUX Switch NVIDIA Advanced Optimus |
Software | Windows 11 Home |
Connectivity | USB-C 4.0 DisplayPort with G-SYNC*1 USB-C 4.0 Full Function with G-SYNC*1 USB-A 3.2*2 HDMI 2.1*1 LAN*1 Audio combo*1 Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax Bluetooth 5.3 |
Weight | 2.5 กก. |
Price | 89,990 บาท (ASUS Online Store) |
Hardware & Design








รูปลักษณ์ของ ASUS ROG Strix G16 ไม่ว่าจะผ่านไปกี่รุ่นก็ตาม แต่ ASUS ก็ยังคงดีไซน์โฉบเฉี่ยวเอาไว้และคงเส้นสายคมแข็งเอาไว้ตามมุมต่างๆ เช่นเดิม เริ่มจากสันเครื่องเหนือคีย์บอร์ดพร้อมเส้นตีเฉียงเหมือน Backslash ( \ ) และติดไฟ LED ไว้ 3 ดวง บอกสถานะว่าตัวเครื่องเปิดไฟอยู่, กำลังชาร์จไฟ, ปิดท้ายด้วยไฟแสดงสถานะว่าตัวเครื่องกำลังประมวลผลอยู่
ถัดลงมาบนตัวเครื่องสกรีนลวดลาย ASUS ROG ไว้แถบซีกขวาจากมุมขวาบนกินเฉียงลงมาลงมุมซ้ายล่างไปครึ่งตัว สกรีน ‘Republic Of Gamers’ ด้วยแบบอักษรของซีรีส์สีเขียวเลม่อนไว้ตรงที่วางข้อมือขวาและทางบริษัทจะใช้สีนี้เป็นเส้นเฉียงส่วนประกับหลังด้านหลังและยางกันลื่นฝาด้านใต้เครื่องด้วย ขอบด้านหน้าเป็นไฟ Lightbar เปลี่ยนเอฟเฟคแสงได้โดยตั้งค่าใน Armoury Crate ได้ทันที ถ้าเปิดดูภายในเครื่องจะเห็นว่าทางบริษัทไม่ได้ติดแถบไฟเอาไว้กับฝาใต้เครื่องเหมือนรุ่นก่อนแล้วแต่ผสานเข้ากับขอบด้านหน้าเครื่องและติดแผ่นวงจรขนาดเล็กไว้คุมแสงไฟแทน เวลาเปิดเครื่องเพิ่ม RAM ติด SSD เพิ่มก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสายแพอีกต่อไป



ตัวก้านบานพับหน้าจอสามารถกางได้กว้างราว 120 องศา มากพอให้มองเห็นเนื้อหาบนหน้าจอได้ง่าย จะตั้งใช้งานบนโต๊ะหรือขึ้นแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ใช้งานได้สะดวก ตัวขาพับถูกยึดเอาไว้กับเฟรมโลหะภายในเครื่องได้แข็งแรง สามารถใช้นิ้วเดียวดึงติ่งขอบบนหน้าจอเปิดเครื่องใช้งานได้ทันที





ฝาหลังของ ASUS ROG Strix G16 ยังคงติดโลโก้เพลตอลูมิเนียมพร้อมเดินเส้นไฟ RGB ตัดขอบเอาไว้และมุมซ้ายล่างของฝาหลังก็สกรีนลวดลาย ROG Strix ติดมาให้เพื่อความสวยงาม ถ้าสังเกตตรงขอบด้านท้ายเครื่องทั้งสองระยะ จะเห็นว่าครึ่งบนจะเป็นประกับเฉียงติดแถบสีเขียวเลม่อนเอาไว้เช่นเดิม ถัดลงมาปั๊มคำว่า ‘Republic Of Gamers’ เอาไว้บนขอบตัวเครื่อง สังเกตจะเห็นว่าด้านหลัง ROG Strix G16 เป็นช่องระบายความร้อนทั้งหมดให้ระบายอากาศจากชุด ROG Intelligence Cooling ได้อย่างรวดเร็ว




ส่วนฝาด้านใต้เครื่องสังเกตว่าแถบยางกันลื่นมุมบนขวาสีเขียวเลม่อนจะโดดเด่นแล้ว ก็มีเป็นแถบตรงกลางเครื่องอีกเส้นเพื่อความมั่นคงเวลากดแป้นคีย์บอร์ดเพื่อพิมพ์งานหรือเล่นเกมจะได้ความรู้สึกแน่นแข็งแรง ส่วนแถบยางกันลื่นจุดอื่นจะเป็นสีดำทั้งหมด ยึดเอาไว้ด้วยน็อตหัวแฉก Philips Head ทั้งหมด 11 ดอก ได้ความมั่นคงแข็งแรงไม่หลุดง่าย
ถ้าสังเกตรายละเอียดจะเห็นว่าทางบริษัทใส่ดีไซน์เกี่ยวกับ Republic Of Gamer เอาไว้ตามส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะยิงเลเซอร์ฝังเอาไว้กับตัวเครื่อง, ตัดช่องนำอากาศเย็นเข้าให้สะท้อนแสงแล้วเห็นคำว่า ROG, ทำดีไซน์กรอบสี่เหลี่ยมไว้ตรงกลางค่อนขวาเครื่องเป็นวันก่อตั้งแผนก ปิดท้ายด้วยคำว่า Intelligence Cooling ฝั่งซ้ายมือเพื่อบอกถึงชุดระบายความร้อนชิปเซ็ต
ถ้าจำกัดความดีไซน์ของ ASUS ROG Strix G16 ก็เป็นขั้วตรงข้ามของโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งเรือธงรุ่นอื่นในท้องตลาดที่เน้นดีไซน์เรียบง่ายไม่ดึงดูดสายตา แต่ Republic Of Gamers จะใส่รายละเอียดให้เยอะขึ้นเพื่อดึงดูดสายตาผู้อื่นให้จับจ้องมันแทน
Screen & Speaker






หน้าจอ ROG Nebula Display ขนาด 16 นิ้ว มีความละเอียด QHD (2560*1600) พาเนล IPS ถูกรีดกรอบหน้าจอให้บางทั้งสามด้านไม่ให้กรอบหน้าจอดึงดูดสายตาเกินไป ส่วนขอบบนจะยกสูงขึ้นเล็กน้อยเป็นติ่งให้ผู้ใช้ดึงเปิดหน้าจอได้ง่าย รวมถึงติดกล้องเว็บแคมและไมโครโฟนไว้ให้ประชุมงานออนไลน์ได้ ขอบล่างหน้าจอจะหนากว่าส่วนอื่นเพื่อติดตั้งชุดพาเนลหน้าจอและยิงเลเซอร์คำว่า ROG Strix ไว้แทนชื่อแบรนด์เพื่อความพิเศษและแตกต่างจากรุ่นอื่น




ว่าด้วยข้อดีของพาเนล IPS คือขอบเขตการแสดงผลจะกว้าง สามารถมองเห็นได้ทั้งในแนวตั้งหรือแนวนอนกว้างถึง 178 องศา มีค่า Refresh Rate 240Hz ทำให้เวลาเล่นเกมหรือใช้งานทั่วไปแล้วภาพจะลื่นไหลต่อเนื่อง เวลาเล่นเกมแล้วภาพก็จะลื่นไหลเป็นพิเศษซึ่งเกมเมอร์ส่วนใหญ่ต้องการหน้าจอแบบนี้อยู่แน่นอน
พาเนลจากบริษัท BOE บานนี้ ASUS เคลมขอบเขตสีเอาไว้กว้าง 100% DCI-P3 พร้อมการการันตีความเที่ยงตรงจาก PANTONE รองรับ Dolby Vision HDR พอปรับความสว่างไปสูงสุดจะวัดได้ 527.44 cd/m2 สว่างพอจะสู้แสงอาทิตย์ตกกระทบหน้าจอได้ไม่เกิดเงาทาบเวลาใช้งาน จากการทดสอบกับโปรแกรม DisplayCal 3 กับ Calibrite Display Pro HL ได้ขอบเขตสีจริง (Gamut coverage) 99.6% sRGB, 86.7% Adobe RGB, 97.9% DCI-P3 และขอบเขตสีองค์รวม (Gamut volume) ได้ 147.2% sRGB, 101.4% Adobe RGB, 104.3% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E 0.11~2.69 ตรงตามการเคลมสเปกหน้าเว็บไซต์ จึงใช้ทำงานกราฟิคก็แสดงสีสันได้ตรงสมจริงและเปิดเล่นเกมก็ได้สีสันสวยงาม





เสียงลำโพงคู่เวลาเปิดเพลงแล้วปรับระดับเสียงสูงสุดแล้ว พอวัดเสียงจะมีความดังราว 85dB พอจะใช้เปิดฟังเพลงในห้องขนาด 13 ตารางเมตรได้สบาย เนื้อเสียงมีมิติแยกทิศทางได้ชัดเจน เน้นเสียงนักร้องนำเสริมด้วยเครื่องดนตรีและมีเบสประกอบพอให้ฟังเพลงยุคปัจจุบันได้ดีทุกแบบโดยไม่ต้องต่อลำโพงแยกก็ได้ เวลาเล่นเกมแต่ละแนวก็สามารถแบ่งทิศทางเสียงได้ดี ทั้งเล่นเพลงให้ได้อรรถรสเวลาเล่นเกม RPG และถ้าเล่น FPS ก็แบ่งทิศทางเสียงศัตรูได้พอควร
Keyboard & Touchpad












คีย์บอร์ดของ ASUS ROG Strix G16 ยังเป็น Tenkeyless เหมือนรุ่นก่อน มีปุ่มใช้งานติดมาให้ครบถ้วน แต่ถึงตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่ก็ไม่มีแป้น Numpad เพราะทางบริษัทเปลี่ยนเป็นฟังก์ชั่น NumberPad ของแป้นทัชแพดแทนให้ประหยัดพื้นที่และปุ่มคีย์บอร์ดมีขนาดมาตรฐานเท่าเดิม ตัวปุ่มมีไฟ AURA Sync ตั้งค่าสีสันได้แบบ Per-Key RGB ได้ความสวยงามแล้วตัวปุ่มยังกดง่าย ถึงไม่เป็น Mechanical Switch แบบ Ultra Low Profile (ULP) แบบรุ่นเรือธงตัวอื่น แต่ก็ตอบสนองได้ดีมาก เวลาเล่นเกมก็ควบคุมตัวละครได้เร็วทันใจและปุ่มก็ไม่แข็งมาก
คีย์ลัดและปุ่มฟังก์ชั่นของ ROG Strix G16 ยังคงเหมือนรุ่นก่อน ไม่ว่าจะปุ่มมาโคร M1~M5 เหนือปุ่ม F1~F5 ไว้ตั้งค่าคีย์ลัดโดยเฉพาะ เสริมด้วย Multimedia key ตั้งแต่ปุ่ม Delete ฝั่งขวามือเป็นแนวตั้งยาวลงมาจนลูกศรขวา ด้านปุ่มฟังก์ชั่นใช้งานอื่นๆ อย่าง Home, End, Page Up/Down ยังรวมเอาไว้กับปุ่มลูกศรทั้งสี่ทิศทางเหมือนเดิม แม้จะเหมาะกับการทำงานแต่หวังให้ ASUS เปลี่ยนเป็นฟังก์ชั่นอื่นให้เอื้อกับการเล่นเกมมากกว่า เช่น สลับค่า Refresh Rate, เปิดเป้าเล็งปืนค้างไว้บนหน้าจอ, ปิดการแจ้งเตือน ฯลฯ ก็จะเหมาะกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมากกว่า
จุดน่าสนใจของคีย์บอร์ดชุดนี้ คือปุ่ม Ctrl ฝั่งขวาถูกถอดออกเปลี่ยนเป็น Print Screen ซึ่งได้ใช้งานบ่อยกว่าแน่นอนโดยอยู่ระหว่างปุ่ม Alt และปุ่ม Copilot แถมทางบริษัทก็ยังใส่ฟังก์ชั่น Windows Lock มาให้กดปิดการทำงานของปุ่ม Win เอาไว้ไม่ให้รบกวนเวลาเล่นเกม

นอกจากปุ่ม Function พื้นฐานติดมากับปุ่มต่างๆ แล้ว ก็มี Hotkeys ติดมาตรงปุ่ม F1~F12 เช่นเดียวกับโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่น แต่จะมีปุ่ม M1~M5 เสริมเข้ามาอีกชุดด้วยโดยมีคำสั่งดังนี้
- F1 – ปิดเสียงลำโพง
- F2~F3 – ลดหรือเพิ่มความสว่างไฟคีย์บอร์ด AURA Sync
- F4 – ปรับเอฟเฟคไฟคีย์บอร์ด AURA Sync
- F5 – ปรับโหมดตัวเครื่อง
- F6 – เรียกโปรแกรม Snipping Tool
- F7~F8 – ลดหรือเพิ่มความว่างหน้าจอ
- F9 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
- F10 – ปิดการทำงานทัชแพด
- F11 – Sleep Mode
- F12 – Airplane Mode
- M1~M2 – ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- M3 – ปิดไมโครโฟน
- M4 – เปลี่ยนโหมดตัวเครื่อง
- M5 – เรียกโปรแกรม Armoury Crate
สังเกตจากปุ่มฟังก์ชั่นกับปุ่มมาโครจะเห็นว่าคีย์ลัดบางปุ่มจะทับซ้อนกันอย่าง M4 กับ F5 จะกดเพื่อปรับโหมดตัวเครื่องเหมือนกัน และบางปุ่มอย่าง Sleep mode ของ F11 ก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่ ถ้าเปลี่ยนเป็นคำสั่งอื่นเพื่อเอื้อการเล่นเกมก็น่าสนใจกว่า




ปุ่มปรับโหมดตัวเครื่องของ M4, F5 พอกดแล้วจะเปลี่ยนโหมดให้ ASUS ROG Strix G16 ได้ 4 แบบ คือ Silent เพื่อประหยัดพลังงานและเสียงพัดลมเบา, Performance เน้นประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่เสียงพัดลมยังไม่หวีดดังมาก, Turbo เร่งประสิทธิภาพสูงสุดแต่เสียงพัดลมจะดังหรือไปโหมด Manual จากการตั้งค่าของผู้ใช้ใน Armoury Crate เลยก็ได้เช่นกัน



ถัดลงมาแป้นทัชแพดของ ASUS ROG Strix G16 จะรวมฟังก์ชั่น NumberPad เอาไว้ให้พิมพ์ตัวเลขใส่เอกสารต่างๆ ได้ง่าย เพียงแตะ NUMLK ไว้ชั่วคราวก็ใช้งานได้ทันที ซึ่งฟังก์ชั่นนี้ทำให้ไม่ต้องลดขนาดปุ่มให้เล็กลงแต่ก็ยังได้ฟังก์ชั่นครบถ้วน ตัวแป้นยังใช้ Touch gesture ของ Windows 11 ได้ครบถ้วนและตัวแป้นเยื้องไปฝั่งขวามือทำให้สันมือซ้ายไม่ทาบทับตัวแป้นเวลาเล่นเกม แต่ตอนทำงานควรยกมือขวาขึ้นเล็กน้อยจะใช้งานได้ดีขึ้นหรือกดปิดการทำงานทัชแพดไปเลยก็ได้
Connector, Thin & Weight




พอร์ตและการเชื่อมต่อไร้สายของ ASUS ROG Strix G16 จะมีเพียงด้านข้างเครื่องทั้งสองฝั่งเท่านั้น เพราะด้านหลังเป็นช่องระบายความร้อนของชุดระบายความร้อน ROG Intelligence Cooling แล้ว และพอร์ตสำคัญแบบต่อค้างไว้กับเครื่องจะรวมอยู่ฝั่งซ้ายมือเป็นหลัก ซึ่งแต่ละด้านจะมีดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – DC-in, LAN, HDMI 2.1, USB-C 4.0 DisplayPort, USB-C 4.0 Full Function, Audio combo
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – USB-A 3.2*2
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.3
ถ้านับตามจำนวนพอร์ตใช้งานในรูปแบบโน๊ตบุ๊คถือว่ามีให้ใช้มากกำลังดี ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่าย แต่ถ้าขึ้นแท่นวางเซ็ตอัพเป็นคอมตั้งโต๊ะเมื่อไหร่ขอแนะนำให้หา USB Hub มาเพิ่มเผื่อจำเป็นต้องต่อ USB-A กับเกมมิ่งเกียร์แล้วจะได้มีพอร์ตไว้โอนถ่ายข้อมูลอีกสัก 1~2 ช่องก็จะดี ถึงจะเห็นพอร์ตด้านข้างอยู่ใกล้กันแต่เวลาใช้งานสามารถต่อใช้งานได้โดยหัวพอร์ตไม่เบียดกันอย่างแน่นอน


ความหนาของตัวเครื่องเมื่อวัดด้วยไม้เวอร์เนียคาลิปเปอร์ จะมีความหนา 22~30 มม. นับเฉพาะตัวเครื่องอย่างเดียวไม่รวมกับแท่นยางกันลื่น ถือว่าใหญ่ไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นและหนาจนเกินช่องใส่โน๊ตบุ๊คของกระเป๋า 15.6 นิ้วไปบ้าง แนะนำว่าถ้าจะซื้อกระเป๋าเป้มาใส่เครื่องนี้ให้เผื่อไปเป็นกระเป๋าโน๊ตบุ๊ค 17.3 นิ้วเลยจะดีกว่า




ในหน้าสเปกเคลมน้ำหนักของ ASUS ROG Strix G16 เอาไว้ 2.5 กก. แต่พอชั่งจริงแล้วเบาลงเหลือ 2.36 กก. รวมกับอะแดปเตอร์หัวกลม 280W ประจำเครื่องไปอีก 791 กรัม จะมีน้ำหนักรวม 3.15 กก. เกาะกลุ่มกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คขนาดเดียวกัน ถ้าใครคุ้นเคยกับน้ำหนักและตัวเครื่องขนาดนี้อยู่แล้วก็ไม่ลำบากมาก
เวลาจะพกเครื่องไปไหนมาไหน กรณีจะเอาไปใช้ในห้องเลคเชอร์, ประชุมงานกับลูกค้าหรือทำงานเอกสารเล็กน้อย ไม่ได้เรนเดอร์กราฟิค 3D ก็ยังปล่อยอะแดปเตอร์ประจำตัวไว้กับโต๊ะแล้วพกอะแดปเตอร์ GaN 100W ไปชาร์จไฟด้วย USB-C แทนได้ แต่ระบบจะฟ้องว่ากระแสไฟพอแค่ใช้งานทั่วไปเท่านั้น ถ้าจะใช้งานเต็มกำลังค่อยพกอะแดปเตอร์ประจำเครื่องไปก็ได้
Inside & Upgrade







วิธีการเปิดฝาใต้เครื่องนับว่าไม่ยากมาก ใช้แค่ไขควงหัวแฉกบวก (Philips Head) ก็ขันเปิดฝาได้แล้วแต่ให้ระวังน็อตใต้ลำโพงมุมขวาล่างตามภาพจะเป็นตัวที่รองบ่าน็อตเอาไว้ ให้ขันพอหลวมก็พอแล้ว เวลาดึงฝาออกให้เอาปิ๊กกีตาร์สอดระหว่างตัวเครื่องบริเวณใกล้พอร์ตแล้วบิดเล็กน้อยก็เริ่มไล่กรอบรอบตัวเพื่อเปิดฝาได้เลย หากใครมีอุปกรณ์พร้อมก็เปิดอัปเกรดเองได้เอง ไม่ยากมาก
จุดอัปเกรดได้บนเมนบอร์ดให้สังเกตแผ่นพลาสติกกันไฟฟ้าสถิตจะมีอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 x4 เพื่อ M.2 NVMe SSD ว่างอยู่ 1 ช่องฝั่งซ้าย พาด Wi-Fi PCIe Card อยู่ ถัดมาเป็น RAM SO-DIMM 16GB DDR5 ติดตั้งมาให้ 2 ช่อง เพิ่มความจุไปได้มากสุด 64GB สุดท้ายฝั่งขวาถัดจากพัดลมเสริมเป็น SSD ติดตั้งต้นมาให้จากโรงงานแล้ว 1TB ไว้ให้ติดตั้งโปรแกรมและเกมได้ สามารถเพิ่มความจุในภายหลังได้ตามสะดวก
Performance & Software

ซีพียู AMD Ryzen 9 9955HX3D ใน ASUS ROG Strix G16 เป็นชิปเซ็ตรุ่นพิเศษซึ่ง AMD ออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ มีคอร์สถาปัตยกรรม Zen 5 ทั้งหมด 16 คอร์ 32 เธรด ความเร็ว 2.5~5.4GHz มากพอเปิดโปรแกรมกินทรัพยากรตัวเครื่องใช้งานได้สบาย และจุดเด่นของชิปเซ็ตตัวนี้ คือเทคโนโลยี 3D V-Cache กล่าวคือ L3 Cache มีขนาดใหญ่พิเศษ 128MB มากกว่าซีพียูทุกรุ่นในยุคนี้ นอกจากนี้มีค่า TDP สูงสุด 55W และรองรับชุดคำสั่งพื้นฐานสำหรับใช้งานครบถ้วน สามารถใช้ทำงานได้เป็นอย่างดี
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม AMD เลือกเพิ่ม L3 Cache ให้ใหญ่เป็นพิเศษ นั่นเพราะแคชระดับนี้ถึงจะมีความเร็วต่ำสุดแต่ก็เปิดให้ทุกคอร์เข้ามาดึงข้อมูลไปใช้งานได้ แถมชิปกราฟิคก็สามารถเข้ามาดึงข้อมูลไปใช้งานได้ทันที ไม่ต้องไปดึงข้อมูลจาก SSD เสมอ จึงลดความหน่วงในระบบทั้งหมดไปได้มากทำให้เฟรมเรทในเกมไม่ตกมากเกินไปจึงเล่นได้สนุกต่อเนื่องยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม 3D V-Cache ก็ไม่ได้ดีเสมอไป อย่างแรกคือตัวชิปเซ็ตจะเหมาะกับการเล่นเกมเป็นพิเศษแต่ในแง่การใช้ทำงานกับโปรแกรมทั่วไปก็ไม่ต่างจากชิปเซ็ตคู่แฝดของตัวเองมาก ยิ่งไปกว่านั้นในแง่การออกแบบวิศวกรรมแล้ว เทคโนโลยีนี้คือการติด L3 Cache ทับลงไปบนกลุ่มคอร์ CCD ฝั่งเดียว เป็นการออกแบบอสมาตร (Asymmetrical design) เวลาใช้งานถ้าเปิด CPUID HWMonitor ควบคู่กันไปจะเห็นว่าเวลาตัวชิปเซ็ตทำงานเต็มกำลัง CCD #0 จะร้อนกว่าอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่สูงเกินไปจนเกิดความเสียหายแน่นอน




RAM ตั้งต้นจากโรงงานมีความจุ 32GB DDR5 บัส 5600MHz ค่า CL40 แบบ SO-DIMM คู่ สามารถเพิ่มความจุไปได้มากสุด 64GB DDR5 ชิปเซ็ตผลิตจากโรงงาน Samsung ซึ่งความจุระดับนี้ถ้าใช้เล่นเกม, ทำงานกราฟิคหรือตัดต่อวิดีโอก็สามารถใช้งานได้ทันทีไม่ต้องอัปเกรดเพิ่มก็ได้ ยกเว้นว่าทำงานกับ AutoCAD, SketchUp, รัน Virtual Machine และเขียนโปรแกรมจะเพิ่มไป 64GB รอไว้ก็ไม่มีปัญหา

จีพียู NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti มี VRAM 12GB GDDR7 ค่า TGP 140W เร่งไปได้มากสุด 175W มี CUDA 5888 Unified เอาไว้ใช้ประมวลผลกราฟิค 3D ได้ รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานครบหมดตั้งแต่ DirectX 12, OpenCL, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing และ OpenGL 4.6 ยกเว้น PhysX ซึ่ง NVIDIA ยกเลิกการสนับสนุนตั้งแต่การ์ดจอรุ่นนี้เป็นต้นไป ถ้าใช้เล่นเกมยุคปัจจุบันเป็นหลักก็ไม่มีปัญหาแต่เกมยุคก่อนตัวไหนพึ่งระบบนี้ก็จะใช้ได้ไม่ดีนัก

ชิ้นส่วนใน Device Manager นอกจากชิปเซ็ตพื้นฐานอย่าง TPM 2.0 สำหรับใช้งานกับระบบ Windows Hello แล้วก็มี AMD PSP 11.0 และ Microsoft Pluton Processor เอาไว้ป้องกันการเจาะระบบระดับฮาร์ดแวร์ได้ ช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไปอีกขั้นหนึ่งและยังได้ชิป Realtek PCIe GbE เอาไว้ให้ผู้ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่าย LAN ได้

ด้าน Wi-Fi PCIe Card ของ ASUS ROG Strix G16 จาก Device Manager จะเห็นชื่อรุ่นเป็น MediaTek MT7922 เป็น AMD RZ616 สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax ได้ มีแบนด์วิดท์กว้าง 160MHz และเชื่อมต่อ Bluetooth 5.3 ได้ด้วย พอทดสอบกับเว็บไซต์ Ookla แล้วมีความเร็ว Download 836.07 Mbps และ Upload 836.81 Mbps ถือว่ารับส่งข้อมูลได้รวดเร็วดีมากไม่ว่าจะดาวน์โหลดเกมหรืออัปโหลดไฟล์งานก็เร็วทันใจ

M.2 NVMe SSD ในเครื่องรหัส MTFDKBA1T0QGN ซึ่งรหัสนี้เป็น Micron 2500 ใหม่ซึ่งตัวชิปหน่วยความจำเป็นแบบ QLC (Quad-Level Cell) มีความเร็วสูงและแม้จะใช้พื้นที่ของไดรฟ์ไปเกิน 80% ก็ยังเขียนอ่านข้อมูลได้รวดเร็ว ความเร็วเมื่อทดสอบกับ CrystalDiskMark 8 แล้วเทียบกับหน้าสเปกจะเป็นดังนี้
สเปก | Read (MB/s) | Write (MB/s) |
สเปกโรงงาน | 7,100 | 5,800 |
CrystalDiskMark 8 | 7,223.74 | 6,154.09 |
RND4K | 336.13 | 371.88 |
จากการเทียบความเร็วระหว่างหน้าสเปกกับโปรแกรมทดสอบแล้วถือว่า SSD ตัวนี้ทำงานได้ดีมากแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องอัปเกรดเพิ่มในภายหลังก็ได้และเหมาะจะใช้เป็นไดรฟ์หลักสำหรับรัน Windows หรือติดตั้งเกมก็ดีแล้วหา SSD 1~2TB มาใส่เป็นไดรฟ์เสริมอีกตัว ไม่ว่าจะเป็น ADATA LEGEND, Kingston Fury Renegade หรือ Samsung 990 PRO ก็ดีเหมือนกัน


ความเร็วจากการทดสอบกับโปรแกรมจำลองการเล่นเกมชั้นนำตระกูล 3DMark ทั้งสองเวอร์ชั่นจะเห็นว่าผลลัพธ์ของแต่ละเวอร์ชั่นถือว่าทำได้ดีทีเดียว ซึ่งผลคะแนนเป็นดังนี้
- Time Spy (จำลองการเล่นเกมชั้นนำบนหน้าจอความละเอียด QHD) – คะแนนเฉลี่ย 16,150 คะแนน แยกเป็น CPU score 13,291 คะแนน Graphics score 16,788 คะแนน
- Steel Nomad (จำลองการเล่นเกมชั้นนำบนหน้าจอความละเอียด UHD) – คะแนนเฉลี่ย 4,021 คะแนน ได้ Graphics test 40.22 FPS
ผลลัพธ์จากการทดสอบทั้งสองเวอร์ชั่นถือว่า ASUS ROG Strix G16 สามารถเล่นเกมชั้นนำได้ดีมากบนหน้าจอความละเอียด QHD หรือจะต่อหน้าจอ UHD ก็เล่นได้และเสริมด้วย NVIDIA DLSS เข้าไปก็เล่นได้



กรณีทดสอบกับเกมชั้นนำในปัจจุบันจะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของเกมส่วนใหญ่จะเล่นได้ดีและภาพลื่นไหลต่อเนื่องและส่วนใหญ่จะได้เกิน 60 FPS ขึ้นไป แต่บางเกมอาจอยู่ในระดับเกิน 40 FPS แต่ข้อดีคือเฟรมเรทจะไม่เหวี่ยงเกินไป ส่วนประสบการณ์การเล่นแต่ละเกมเป็นดังนี้
- Call of Duty: Modern Warfare II – เล่นได้ลื่นไหลทุกฉากและเฟรมเรทเวลาเจอฉากปะทะหนักไม่ตกมากจนเกินไป สามารถควบคุมตัวละครได้ลื่นไหลและเฟรมเรทเวลาเจอฉากปะทะหนักจะไม่ตกมากนัก
- Forza Horizon 5 – ควบคุมรถได้ต่อเนื่อง ไม่เกิดอาการเฟรมเรทลดกะทันหันถังจะเจอแสง, เงา, ฝุ่นหรือน้ำในฉากแล้วเฟรมเรทก็ไม่ตกมากและต่อหน้าจอแยก UHD เล่นได้สบายมาก
- Black Myth: Wukong – แนะนำให้เปิด NVIDIA DLSS เพราะผู้พัฒนายังไม่ได้ Optimize ให้เหมาะกับการเล่นโดยไม่เปิด Upscalling และ Frame Generation และแนะนำให้ปิด Motion Blur ทิ้งเสมอ
- God of War – เล่นได้ลื่นไหลแม้จะปิด Upscalling อยู่ก็เล่นได้ดี จากการทดสอบเล่นกับหน้าจอ QHD ของ ROG Strix G16 ก็ยังได้เฟรมเรทสูงมาก อาจต่อหน้าจอ UHD เล่นก็ได้
- Monster Hunter Wilds – ตัวเกมยังขาดการ Optimize แม้จะเล่นโดยปิด Upscalling ได้และภาพลื่นไหลก็จริง แต่ถ้าเปิด DLSS Quality เสริมด้วย Frame Generation จะได้ภาพลื่นไหลกว่า สามารถเล่นได้ดีไม่มีปัญหาใดๆ กวนใจแน่นอน
- Red Dead Redemption II – เวลาเล่นทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกือบ 60 FPS และเฟรมเรทเวลาเจอฉากแสงเงาเยอะก็ไม่มีปัญหา แต่แนะนำให้เปิด DLSS Quality เสริมเข้าไปอีกนิด จะได้ภาพทั้งสวยและลื่น
- Cyberpunk 2077 – ถึงจะเล่นโดยไม่เปิด Upscalling ได้ก็ตาม แต่ขอแนะนำให้เปิด DLSS Quality ไว้สักนิดให้เฟรมเรทสูงขึ้นจะดีกว่าและลดอาการ Ghosting ในบางโอกาสได้ด้วย และการเปิด Frame Generation 2~4X นอกจากได้ภาพลื่นไหลขึ้นและเปิด Path Tracing แล้วยังเล่นได้ดี ไม่เกิดอาการ Input Lag ด้วย ดังนั้นแนะนำให้เปิดฟีเจอร์นี้ทิ้งไว้ได้เลย
อิงเฟรมเรทจากการทดสอบแล้ว ASUS ROG Strix G16 เหมาะกับการเล่นเกมต่างๆ บนจอความละเอียด QHD เป็นหลักและเปิด NVIDIA DLSS เสริมก็สามารถเล่นบนจอความละเอียด UHD ได้แน่นอน แต่เพราะเป็น GeForce RTX 5070 Ti เฟรมเรทเฉลี่ยอาจไม่สูงอลังการก็จริง แต่ในแง่ใช้งานจริงก็มากพอให้เล่นเกมชั้นนำได้สบายมาก

นอกจากเล่นเกม ASUS ROG Strix G16 ก็เหมาะกับการทำงานมาก การันตีจากคะแนนเฉลี่ยของ PCMark 10 ซึ่งสูงถึง 9,081 คะแนน มาจากคอร์เธรดของ AMD Ryzen 9 9955HX3D ซึ่งเยอะเหลือเฟือให้ใช้ทำงานออฟฟิศได้ทั้งหมด แถมกำลังยังเหลือใช้จนเปิดโปรแกรมใหญ่อย่าง SketchUp, AutoCAD หรือเอาไว้เขียนโปรแกรมและใช้ Virtual Machine ก็ได้หมด



พอทดสอบเจาะจงกับโปรแกรมทำงาน 3D CG ตระกูล CINEBENCH จะเห็นว่า AMD Ryzen 9 9955HX3D ก็ใช้ทำงานได้ดีมากเช่นกัน ซึ่งคะแนนจากการทดสอบแต่ละเวอร์ชั่นเป็นดังนี้
- 2024 – ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูกับจีพียูอย่างหนักพร้อมกันโดยใช้เอนจิ้น Redshift สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์ ได้ CPU (Multi-Core) 1,569 pts และ CPU (Single Core) 128 pts
- R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 36,142 pts และ Single Core อีก 2,181 pts
- R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 15,071 pts



งานปั้นโมเดล 3D กับโปรแกรม Blender Benchmark ก็ได้ผลลัพธ์ดีทีเดียว สังเกตว่าคะแนน CPU นั้นทำได้สูงมาก แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นซีพียูสำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะแต่ก็ทำงานได้เยี่ยมเช่นกัน
การทดสอบ (Sample/นาที ยิ่งมากยิ่งดี) | CPU | AMD Radeon 610M | NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti |
monster | 254 | 25 | 2,566 |
junkshop | 175 | 10 | 1,436 |
classroom | 125 | 12 | 1,396 |




ด้านการทดสอบกับโปรแกรมตระกูล Geekbench ชุดแรกกับซีพียู Ryzen 9 9955HX3D สามารถทำคะแนนได้ดีพอควร ในแต่ละการทดสอบจะได้ผลดังนี้
- Geekbench 6 – ใช้ทดสอบว่าซีพียูสามารถประสานงานกับหน่วยความจำในเครื่องได้ดีหรือไม่ โดยจำลอง workloads งานประเภทการบีบอัดข้อมูล (data compression), การประมวลผลภาพ (image processing), Machine Learning และ Compile code มาทดสอบ
- Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าเป็น Single-Core ทำได้ 1,270 คะแนน และ Multi-Core ได้ 10,927 คะแนน
- Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX CPU – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 3,140 คะแนน
- Geekbench AI – คำนวณว่าซีพียูสามารถรันการทำงานกับโปรแกรม AI ต่างๆ ได้แม่นยำหรือรวดเร็วหรือไม่ แบ่งเป็น Single Precision เน้นความเที่ยงตรง, Half precision เน้นความเร็วมากขึ้นและลดความแม่นยำลง และ Quantized Score เน้นความเร็วแต่ไม่แม่นยำนัก
- ONNX ได้คะแนน Single Precision 2,788 คะแนน, Half precision 562 คะแนน และ Quantized Score 4,045 คะแนน
- OpenVINO ได้คะแนน Single Precision 6,664 คะแนน, Half precision 6,728 คะแนน และ Quantized Score 14,114 คะแนน




ถัดมาเป็นคะแนนการทดสอบกับ AMD Radeon 610M เป็นการ์ดจอในซีพียู ซึ่งคะแนนในแต่ละการทดสอบเป็นดังนี้
- Geekbench 6 – ใช้ทดสอบว่าจีพียูสามารถประสานงานกับหน่วยความจำในเครื่องได้ดีหรือไม่ โดยจำลอง workloads งานประเภทการบีบอัดข้อมูล (data compression), การประมวลผลภาพ (image processing), Machine Learning และ Compile code มาทดสอบ
- OpenCL, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบ vector integer ด้วย OpenCL framework ทำได้ 5,668 คะแนน
- Vulkan, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบคำนวน vector integer ด้วย Vulkan framework ทำได้ 7,516 คะแนน
- Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX DirectML – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 1,582 คะแนน
- Geekbench AI ทดสอบว่าสามารัน AI ได้ดีหรือไม่
- ONNX DirectML – Single Precision 1,781 คะแนน, Half precision 1,956 คะแนน และ Quantized Score 1,409 คะแนน




ด้านคะแนนของ NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti เองก็ทำผลงานได้ดี ได้คะแนนในแต่ละการทดสอบดังนี้
- Geekbench 6 – ใช้ทดสอบว่าจีพียูสามารถประสานงานกับหน่วยความจำในเครื่องได้ดีหรือไม่ โดยจำลอง workloads งานประเภทการบีบอัดข้อมูล (data compression), การประมวลผลภาพ (image processing), Machine Learning และ Compile code มาทดสอบ
- OpenCL, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบคำนวน vector integer ด้วย OpenCL framework ทำได้ 137,451 คะแนน
- Vulkan, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบคำนวน vector integer เป็นหลักด้วย Vulkan framework ทำได้ 154,981 คะแนน
- Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX DirectML – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 17,150 คะแนน
- Geekbench AI ทดสอบว่าสามารัน AI ได้ดีหรือไม่
- ONNX DirectML – Single Precision 20,842 คะแนน, Half precision 35,615 คะแนน และ Quantized Score 16,317 คะแนน
สรุปในแง่การทำงานแล้ว ASUS ROG Strix G16 ก็เหมาะเช่นกัน แม้หลายคนจะคิดว่า AMD Ryzen รุ่นนี้ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการเล่นเกมก็จริง แต่พอมีคอร์เธรดก็เยอะก็เหมาะจะเอาไว้ใช้ทำงานกับโปรแกรมกินทรัพยากรหนักอย่าง AutoCAD, SketchUp, Blender ฯลฯ หรือจะใช้เขียนโปรแกรมก็ทำได้สบายมาก






ซอฟท์แวร์ปรับตั้งค่าตัวเครื่องอย่าง ASUS Armoury Crate ในเวอร์ชั่นนี้จะมีฟังก์ชั่นเฉพาะเพิ่มเข้ามา อย่างการปรับแต่ง Hotkeys, เปิด Panel overdrive, ปรับแต่งโปรไฟล์ให้เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงอัปเดตซอฟท์แวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดได้ด้วย
Battery & Heat & Noise


แบตเตอรี่ของ ASUS ROG Strix G16 เป็นลิเธียมโพลีเมอร์ (Li-Polymer) ความจุ 90Whr วัดเป็น Typical Capacity ได้ 5,800mAh และ Rated Capacity ได้ 5,630mAh มากไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งระดับราคาไล่เลี่ยกัน แต่ด้วยชิปเซ็ตภายในเครื่องจะพอให้ใช้งานได้ระยะหนึ่งเท่านั้นพอกับโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งในระดับราคาเดียวกัน ตัวแบตเตอรี่เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวตั้งแต่ลำโพงฝั่งซ้ายจนสุดฝั่งขวา

ระยะเวลาใช้งานจากการทดสอบตามรูปแบบของทางเว็บไซต์ โดยเปิดความสว่างหน้าจออยู่ 50% ลดเสียงลำโพงเหลือ 10% ปรับใช้โหมดประหยัดแบตเตอรี่แล้วใช้ Microsoft Edge ดูคลิปใน YouTube นาน 30 นาที จะใช้งานได้ราว 2 ชม. 28 นาที นานพอจะพกเข้าประชุมหรือฟังเลคเชอร์จบได้ 1 คาบพอดี แต่ถ้าต้องประชุมงานระดับ Town hall หรือนานกว่านั้นควรต่ออะแดปเตอร์ชาร์จไว้จะดีกว่า
แม้ระยะเวลาใช้งานจะสั้นเพียงนี้ แต่ต้องเข้าใจว่า ASUS ROG Strix G16 ใช้ชิปเซ็ตซีพียูกับจีพียูระดับสูงพอจะใช้เล่นเกมชั้นนำและทำงานเล็กใหญ่ได้หมด จึงต้องแลกกับการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เยอะมากอยู่แล้วจะใช้ได้ไม่นานมากก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าต้องใช้งานนอกสถานที่เป็นเวลานาน แนะนำให้เตรียมอะแดปเตอร์ GaN 100W เตรียมเอาไว้จะได้ชาร์จในยามจำเป็นได้ทันที








ชุดระบายความร้อน ROG Intelligence Cooling ในเครื่องนอกจากฮีตไปป์ 7 เส้น เดินแนวจากซีพียูฝั่งซ้ายและจีพียูฝั่งขวาในภาพตรงไปยังฮีตซิ้งก์และใช้พัดลมโบลวเวอร์ระบายความร้อนออกจากเครื่องไปแล้ว จะเห็นว่า ASUS เสริมพัดลมเล็กเข้ามาอีกตัวเพื่อช่วยระบายความร้อนให้ชิปเซ็ตฝั่งขวาเป็นพิเศษ ส่วนภายในที่ไม่เห็นจะเป็นโลหะเหลวสำหรับระบายความร้อนจาก Thermal Grizzly Conductonaut Extreme เป็นโลหะเหลวเพื่อระบายความร้อน ทำให้จัดการอุณหภูมิได้เสถียรดีต่อเนื่อง
ด้านการดีไซน์ช่องลมระบายอากาศด้านข้าง ฝั่งซ้ายมือยังพอยกยอดได้เพราะมือของผู้ใช้จะอยู่บนคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คอยู่แล้ว แต่ฝั่งขวามือจะพอดีกับช่องระบายความร้อนและเวลาเล่นเกมก็จะถูกลมร้อนเป็นระยะๆ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนจะดันตัว ROG Strix G16 ขึ้นไปเล็กน้อยให้ช่องลมเลยมือขึ้นไปก็ช่วยให้เล่นเกมได้สบายขึ้นมากแล้ว







อุณหภูมิภายในจากการทดสอบรัน Benchmark ให้ ASUS ROG Strix G16 ทำงานเต็มกำลังแล้ววัดด้วยเลเซอร์วัดอุณหภูมิจะเห็นว่าความร้อนสูงสุดจะไปรวมอยู่ด้านหลังเครื่องซึ่งเป็นแนวช่องระบายความร้อนด้านหลังเครื่องอยู่แล้วและด้านข้างเครื่องส่วนครึ่งบนก็เช่นกัน ภาพจากกล้องอินฟาเรดจะเห็นว่าครึ่งบนตัวเครื่องร้อนแต่ส่วนกลางเครื่องจะมีอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส และเวลาวางมือบนตัวเครื่องเล่นเกมก็ไม่ร้อนรบกวนมือเวลาใช้งานแน่นอน
ด้านอุณหภูมิภายในเครื่องเมื่อเช็คจาก CPUID HWMonitor แล้ว จะเห็นว่าอุณหภูมิเวลาปล่อยสแตนด์บายเครื่องเอาไว้อยู่ราว 64 องศาเท่านั้น เวลาปล่อย Full Load แล้วองค์รวมชิปเซ็ต (Package) เร่งไปสูงสุดราว 96.6 องศาเซลเซียส แต่สังเกตว่า CCD #0 หรือกลุ่มคอร์ซีพียูชุดแรกจะมีอุณหภูมิไปได้ถึง 101 องศา เพราะเป็นส่วนที่ติดตั้ง 3D V-Cache เอาไว้ แต่ก็เป็นเวลาเพียง 1~2 วินาทีเท่านั้นและไม่เกิดอาการตัวเครื่องปรับลดความเร็วประมวลผลลงเพื่อลดความร้อน (Throttle down) เลย ไม่เกิดอาการหน่วงหรือกระตุกระหว่างเล่นแน่นอน แต่ถ้าใครห่วงเรื่องอุณหภูมิแนะนำให้หาแท่นวางโน๊ตบุ๊คแบบมีพัดลมโบลวเวอร์เสริมมาตั้งเครื่องเสริมสักหน่อยก็ช่วยได้แล้ว


เวลาพัดลมโบลวเวอร์ทำงานเต็มกำลัง เสียงจากช่องระบายความร้อนเมื่อวัดด้วยเครื่องวัดเสียงจากด้านหน้าเครื่องมีความดัง 52.8dB ส่วนด้านข้างสูงสุด 57.7dB เท่านั้น ถ้าเทียบกับชาร์ตระดับเสียงจะพอกับเสียงพูดคุยของมนุษย์เท่านั้น เวลาเอาไปใช้งานในที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟจะไม่รบกวนผู้อื่นแน่นอน ยิ่งถ้าใช้โหมด Slient เสียงก็จะเบากว่านี้อีก
User Experience

ถ้าเกมเมอร์คนไหนติดตามข่าวเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเป็นประจำก็น่าจะรอให้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คพร้อมชิปเซ็ต AMD Ryzen 3D V-Cache มาวางจำหน่ายในไทยเสียที ซึ่ง ASUS ROG Strix G16 นี้เป็นรุ่นแรกของประเทศไทยแล้วประสิทธิภาพก็นับว่าน่าประทับใจใช้ได้ทั้งทำงานและเล่นเกมก็ได้หมด ยิ่งใครไม่อยากประกอบคอมเล่นเกมให้ยุ่งยาก อยากต่อหน้าจอแยกความละเอียด 4K เล่นเกมได้ทันทีแล้ว ยิ่งเกมไหนเน้นใช้ซีพียูเป็นหลัก (CPU Intensive) จะยิ่งเห็นผลว่าเฟรมเรทจะสูงและส่วนของเฟรมเรทต่ำสุดจะลดไปไม่เยอะมาก
ในแง่ทฤษฎีกับปฏิบัติก็ตรงกัน ข้อดีของชิปเซ็ต Ryzen 9 9955HX3D พอมี 3D V-Cache ติดเพิ่มเข้ามาทำให้เล่นเกมได้ลื่นไหลและไม่เกิดอาการเฟรมเรทตกวูบกะทันหันเลยและเฟรมเรทต่ำสุดหลายๆ เกมจากการทดสอบมาจะไม่ได้ฉีกจากเฟรมเรทเฉลี่ยมากนักไม่เกิน 10% ต่างจากชิปเซ็ตทั่วไปเวลาเล่นเกมแล้วฉากนั้นต้องคำนวณฟิสิกส์เยอะมีแสงเงาซับซ้อนก็จะทำให้เฟรมเรทต่ำสุดลดไปได้เหลือหลัก 10 FPS ได้ ด้านการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti แม้จะเป็นรุ่นรองลงมา ไม่ได้ให้ GeForce RTX 5080 แต่มันก็ใช้เล่นเกมได้เยี่ยม เฟรมเรทลื่นไหลต่อเนื่องแม้เฟรมเรทเฉลี่ยจะน้อยกว่าก็ห่างไม่เกิน 10% แต่ในแง่การใช้งานจริง เปิด NVIDIA DLSS แล้วแต่ละเกมก็สามารถทำเฟรมเรทได้สูงเกิน 60 FPS หรือบางเกมก็ขึ้นไปได้หลัก 100 FPS ได้สบายบนความละเอียด QHD ดังนั้นถ้าจะต่อหน้าจอแยก UHD ก็เล่นได้แน่นอน

ในแง่การทำงาน ASUS ROG Strix G16 ยิ่งไม่ต้องห่วงว่าจะทำได้ดีไหม จากการทดสอบใช้งานออฟฟิศไปจนงานกราฟิคและวิดีโอ ชิปเซ็ต Ryzen 9 กับ GeForce RTX 5070 Ti สามารถทำงานได้ทุกแบบตั้งแต่สเกลเล็กอย่างแต่งภาพหรือตัดต่อคลิปสั้นไปจนเรนเดอร์โมเดล 3D ทำโมเดล Vtuber ไปจนเขียนโปรแกรมและทำ Virtual machine ได้หมดโดยไม่ต้องกังขาใดๆ แถมทำเสร็จได้รวดเร็วมาก แถมได้พอร์ต USB-C DisplayPort กับ Full Function มาอย่างละช่อง ถ้ามี USB-C Multiport Adapter แบบ 10 พอร์ตสักตัวก็ต่อหน้าจอแยก, เกมมิ่งเกียร์และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้ตามต้องการเลย
น่าเสียดายว่า ASUS ROG Strix G16 ไม่ได้มีเซนเซอร์สแกนใบหน้าหรือลายนิ้วมือติดมาให้เหมือนแบรนด์คู่แข่งในระดับราคาเท่ากัน แม้จะไม่ได้ส่งผลเสียอะไรมากแต่ถ้ามีให้ใช้ก็ช่วยให้เจ้าของเครื่องปลดล็อคใช้งานได้สะดวกและเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ชุดระบายความร้อนเป็นแบยบบ
Conclusion & Award

ด้วยสเปกและองค์ประกอบทั้งหมดของ ASUS ROG Strix G16 ก็นับได้ว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คราคา 89,990 บาทนี้น่าซื้อและสเปกทรงพลังไม่แพ้กับแบรนด์คู่แข่ง โดยเฉพาะซีพียู AMD Ryzen รุ่นพิเศษพร้อม 3D V-Cache รุ่นแรกในประเทศไทยทำให้เล่นเกมได้ลื่นไหลขึ้นและเฟรมเรทขั้นต่ำก็ไม่ต่ำเกินไปและไม่เกิดอาการภาพหน่วงให้เห็น เหมาะกับเกมเมอร์ที่ไม่อยากประกอบคอมให้เสียเวลาแล้วซื้อโน๊ตบุ๊คมาต่อหน้าจอแยกใช้งานเลยมาก แถมยังเอาไว้ต่อยอดเป็นคอมทำงานตัดต่อคลิปทำคอนเทนต์, ปั้นโมเดล 3D ต่างๆ ได้ดีมากเช่นกัน เป็นคอมเครื่องเดียวทำได้ทุกหน้าที่ตั้งแต่เกมมิ่งพีซีในบ้านเราไปจนคอมทำงานในออฟฟิศได้เลย ขอแค่มีอุปกรณ์เสริมอย่างหน้าจอคุณภาพ, เกมมิ่งเกียร์เข้าเซ็ตกันไปจน USB-C Multiport Adapter อีกตัว เท่านี้ ROG Strix G16 ก็พร้อมทำให้ทุกอย่างแล้ว
Award

AMD Ryzen 9 9955HX3D พอจับคู่กับ NVIDIA GeForce RTX 5070 Ti แล้ว ก็เล่นได้ทุกเกมแล้วภาพลื่นไหลแถมเฟรมเรทไม่ตกวูบวาบให้เห็น จะเล่นบนหน้าจอ QHD หรือ UHD ก็ได้หมด ขอแค่เตรียมอุปกรณ์เสริมกับเกมมิ่งเกียร์มาให้พร้อมก็พอแล้ว

ถึงซีพียูจะขึ้นชื่อว่าเหมาะกับการเล่นเกมเป็นหลัก แต่งานครีเอเตอร์ในแขนงต่างๆ ก็ต้องการคอมสเปกทรงพลัง ยิ่งคอร์เธรดเยอะแบบนี้ยิ่งได้เปรียบ ประกอบด้วยหน้าจอขอบเขตสี 100% DCI-P3 และได้ PANTONE Validated แล้ว ASUS ROG Strix G16 ก็เหมาะกับครีเอเตอร์เช่นกัน
Gallery











