THE 84 BIGGEST FLOPS, FAILS, AND DEAD DREAMS OF THE DECADE IN TECH
มาต่อกันกับตอนที่ 3 ของเทคโนโลยีที่ถูกลืมและหายไปในทศวรรษที่ 2010 ที่ผ่านมาโดยเราจะมาดูหันต่ออีก 12 ลำดับว่ามีอะไรที่ถูกลืมเลือนหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยในบทความนี้นั้นเราๆ ท่านๆ น่าจะได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์บางอย่างมาแล้วไม่มากก็น้อย ส่วนจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้นไปติดตามกันต่อได้เลย
60. FLAPPY BIRD
เริ่มต้นในอันดับที่ 60 กับเกมชื่อดังที่มีให้เล่นบนสมาร์ทโฟนทั้งระบบปฎิบัติการ iOS และ Android อย่าง Flappy Bird ซึ่งต้องบอกเลยว่า ณ เวลาที่ตัวเกมดังกล่าวนี้นั้นมีการเปิดตัวออกมาพบว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วตัวเกมแทบจะไม่มีอะไรที่น่าดึงดูดเลยแม้แต่น้อยไม่ว่าจะทั้งการมาพร้อมกับกราฟิกที่ดูแล้วเหมือนกับเกมในสัมย 8 bit ตัวเกมที่ไม่มีเนื้อหาใดๆ ทว่ามันก็สามารถที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถที่จะติดเกมนี้กันอย่างงอมแงม ซึ่งในช่วงแรกของตัวเกมที่เริ่มเปิดให้โหลดได้ผ่านทาง App Store นั้นก็พบว่ามียอดการดาวน์โหลดจำนวนมากจนทำให้ตัวเกมนั้นติดอันดับชาร์ทแอปพลิเคชันที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดประจำเดือนมกราคม 2014 ไปได้แบบสบายๆ ซึ่งด้วยยอดดาวน์โหลดดังกล่าวนี้เองนั้นทำให้ผู้พัฒนาตัวเกมชาวเวียดนามอย่างคุณ Dong Nguyen ได้รับรายได้ต่อวันมาถึง $50,000 เลยทีเดียว
จนมาถึงจุดหนึ่งนั้นทางผู้พัฒนาอย่างคุณ Nguyen ถึงกับรับความโด่งดังดังกล่าวของตัวเกมไม่ไหวและในที่สุดก็ได้ทำการนำเอาตัวเกมออกจาก App Store และ Play Store ไปในที่สุด โดยหลังจากนั้นก็มีผู้พัฒนาหลายๆ รายที่ทำตัวเกมในลักษณะแบบเดียวกันออกมาทว่าก็ไม่มีเกมไหนที่จะมีจำนวนยอดดาวน์โหลดได้มากเท่ากับ Flappy Bird เลยสักเกมเดียว
59. ISIS (THE MOBILE WALLET)
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2012 ที่ผ่านมานั้นพบว่าทางผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง AT&T, T-Mobile และ Verizon ของสหรัฐอเมริกาได้มีแนวคิดในการที่จะนำเอาสมาร์ทโฟนมาเป็นอุปกรณ์สำหรับการจ่ายเงินแบบดิจิทัลซึ่งในตอนนั้นได้มีการพัฒนาระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับชื่อที่ดูแล้วไม่ค่อยจะน่าใช้งานเท่าไรอย่าง ISIS(ชื่อดันไปคล้ายกับกลุมหัวรุนแรงอย่าง IS) แน่นอนว่า ณ เวลานั้นมันไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าไรนักจนผู้ให้บริการเครือข่ายถึงขั้นต้องทำการตั้งชื่อใหม่ให้กับบริการดังกล่าว
ทว่าตัวชื่อเองนั้นก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ระบบจ่ายเงินแบบดิจิทัลไม่ได้รับความนิยมเพราะการที่จะใช้งานได้นั้นผู้ใช้จะต้องทำการเปลี่ยน SIM ใหม่นอกเหนือไปจากนั้นแล้วก็มีผู้ให้บริการบัตรเครดิตเข้าร่วมโครงการน้อยมากๆ ทำให้ผู้ใช้นั้นค่อนข้างที่จะมีจำนวนจำกัดเนื่องจากว่าต้องเป็นผู้ที่มีบัตรเครดิตที่ทางผู้ออกบัตรรองรับระบบดังกล่าวเท่านั้น โดยถึงแม้ทางผู้ให้บริการเครือข่ายจะทำการออกบัตรเครดิตแบบจ่ายเงินเข้าไปก่อนถึงจะสามารถใช้งานได้ออกมา ทว่ามันก็ค่อนข้างสร้างความลำบากให้กับทางผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก ในท้ายที่สุดนั้นระบบ ISIS ก็ปิดตัวลงในปี 2015 อย่างเป็นทางการจากการมาถึงของระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัลที่ทาง Google เป็นผู้พัฒนาเองอย่าง Google Wallet
จริงๆ แล้วนั้นในยุคปัจจุบันนี้นั้นเราจะได้เห็นว่ามีหลายแอปพลิเคชันที่ทำออกมาเพื่อที่จะรองรับการจ่ายเงินแบบดิจิทัลโดยเฉพาะ ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวในปัจจุบันนั้นก็มีให้เลือกมากมายและมีการใช้งานที่ง่ายดายมากขึ้นกว่าเดิม แน่นอนว่าบางแอปเองนั้นเมื่อไม่สามารถที่จะหาสิ่งมาดึงดูดให้ผู้ใช้ทำการใช้งานได้ในที่สุดก็ต้องปิดตัวลงไปในที่สุด สำหรับในไทยเรานั้นแอปพลิเคชันการจ่ายเงินแบบดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากกว่าใครน่าจะหนีไม่พ้น Wallet ของทาง True ที่มีทั้งโปรโมชันต่างๆ มากมายเพื่อดึงดูดผู้ใช้ รวมทั้งยังมีความง่ายในการใช้งาน และจากการที่มีการประกาศสนับสนุนจากทางรัฐบาลว่าจะทำการผลักดันให้เราๆ ท่านๆ เข้าสู่สังคมไร้เงินสดนั่นทำให้เราได้ให้แอปพลิเคชันสำหรับการจ่ายเงินแบบดิจิทัลได้รับความนิยมในการใช้งานเป็นอย่างมาก
58. QWIKSTER
ในปัจจุบันนี้นั้นปฎิเสธไม่ได้เลยว่า Netflix นั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและมียอดจำนวนผู้ลงทะเบียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ทว่ามีน้อยคนมากนักที่จะได้ทราบว่าจริงๆ แล้วทาง Netflix เองนั้นก็เคยมีก้าวที่พลาดมาแล้วเหมือนกันในช่วงทศวรรษ 2010 ที่ผ่านมา โดยในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้นทาง Netflix นั้นได้ก่อตั้งบริษัทแยกอย่าง Qwikster ซึ่งมีการเปิดตัวออกมาในช่วงเดือนกันยายนปี 2011 ที่ผ่านมา โดยตัวบริษัท Qwikster นั้นจะมีรูปแบบการให้บริการในการให้เช่า DVD ทว่าด้วยความที่ลักษณะการให้บริการดังกล่าวนั้นค่อนข้างที่จะไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้วตั้งแต่ในยุคสมัยนั้นทำให้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ทาง Qwikster จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทางบริษัทใหญ่อย่าง Netflix เองก็ได้ทำการตัดสินใจไม่ทำการเปิดตัว Qwikster ตามกำหนดการที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม เรียกได้ว่าเป็นบริการที่ถูกปิดก่อนที่จะคลอดออกมาก็ว่าได้
57. LILY DRONE
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่กระแสมาแรงมากๆ อย่างอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กหรือ Drone นั้นต้องยอมรับจริงๆ ว่าในทศวรรรษ 2010 ที่ผ่านมาเป็นช่วงทองของ Drone ซึ่งด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้เองนั้นทำให้บริษัทผู้ผลิตพัฒนา Drone ออกมากันอย่างมากมาย ทว่าในปี 2015 นั้นก็มีบริษัทหนึ่งที่ทำพลาดกับบริษัทที่มีชื่อว่า Lily Robotics ที่ทำการผลิต LILY DRONE ออกมาในลักษณะของการร่วมทุนซึ่งในโฆษณานั้นมีการเผยให้เห็นภาพอันสวยงามอย่างมาก แต่แล้วก็หนีไม่พ้นชาวเน็ตที่สามารถจะทำการจับผิดโฆษณาดังกล่าวได้ว่าตัว LILY DRONE นั้นไม่ได้มีความสามารถอย่างที่บริษัทได้ทำการโฆษณาเอาไว้ โดยในความเป็นจริงแล้วนั้นทางบริษัทได้ใช้ Drone จากบริษัท DJI ที่ทำการติดตั้งกล้อง GoPro เอาไว้มาแสดงไว้ในหน้าร่วมทุนแทนที่จะเป็นตัวของ LILY DRONE เอง
แถมที่หนักไปกว่านั้นแล้วบริษัท Lily Robotics ก็ไม่ได้ทำการส่งมอบตัว LILY DRONE ให้กับผู้ร่วมทุนกว่า 60,000 รายด้วยอีกต่างหาก แน่นอนว่าชาวอเมริกาผู้รักในกฎหมายก็ดำเนินการฟ้องร้องบริษัท Lily Robotics ตามระเบียบเพราะตามข้อมูลของการระดมทุนนั้นพบว่า Lily Robotics ได้ทุนไปใช้ในการพัฒนา LILY DRONE สูงมากถึง $49 ล้าน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าทางบริษัทจะไม่สนใจในเรื่องของการต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะในปี 2017 ที่ผ่านมานั้นทางบริษัทเองก็ได้มีการประกาศระดมทุนครั้งใหม่กับ “Lily Next-Gen,” ซึ่งแน่นอนว่าในครั้งนี้นั้นไม่มีผู้ที่ร่วมลงทุนเลยจนทำให้บริษัทนี้เงียบหายไปในที่สุดนั่นเอง
56. UBER’S IPO
IPO หรือ Initial Public Offering คือการออกเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรกหรือจะเรียกว่าเป็นการเข้าสู่ตลาดหุ้นโดยอนุญาตให้ผู้คนทั่วไปเข้ามาทำการซื้อหุ้นของบริษัทนั้นๆ เพื่อการลงทุนได้ โดยในช่วงปลายๆ ปี 2018 ที่ผ่านมานั้นทาง Uber บริษัทขนส่งส่วนบุคคลชื่อดังได้ทำการเปิด IPO เป็นครั้งแรกโดยที่ทางบริษัทนั้นตั้งใจเอาไว้ว่าจะสามารถที่จะระดมทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวนี้ได้มากถึง $120 พันล้าน ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดตัวนั้นต้องยอมรับว่าหุ้นของ Uber มีมูลค่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีคืออยู่ที่ $45 ต่อหุ้น ทำให้ทางบริษัทสามารถที่จะระดมทุนไปได้มากถึง $75.46 พันล้าน อย่างไรก็ตามแต่แล้วนั้นหลังจากที่เปิด IPO ได้ไม่นานมูลค่าหุ้นต่อหุ้นของ Uber ก็ลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ $30 ต่อหุ้นเท่านั้นทำให้กลับกลายเป็นว่าแทนที่จะได้ทุนมาใช้ในกิจการ ทาง Uber กลับต้องควักเนื้อตัวเองออกมามากถึง $5.2 พันล้านในไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 ที่ผ่านมา งานนี้นั้นเรียกได้ว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมาก ทั้งนี้ก็คงต้องดูว่าการเตรียมเปิดให้บริการขนส่งทางอากาศของทาง Uber ที่หวังเอาไว้ว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2023 นี้จะโดนผลกระทบด้วยหรือไม่
55. THE “FACEBOOK PHONE”
ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 นั้นทาง Facebook มีความทะเยอทะยานเป็นอย่างมากในการพัฒนาสมาร์ทโฟนที่เป็นของตัวเองโดยเฉพาะเพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถที่จะใช้สมาร์ทโฟนดังกล่าวเข้าสู่บริการทั้งหมดของ Facebook ได้ง่ายขึ้น โดยทาง Facebook นั้นได้ร่วมเป็นคู่ค้ากับทาง HTC ในการผลิต Facebook Phone ขึ้นมาซึ่ง Facebook Phone 2 รุ่นแรกอย่าง Status และ Salsa นั้นกลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้มากเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามทาง Facebook เองก็ยังไม่หมดหวังโดยการปล่อย Facebook Phone รุ่นที่ 3 ออกมาอย่าง HTC First ซึ่งได้มีการเปลี่ยนมาใช้ระบบปฎิบัติการ Android เป้นหลักโดยตัวเครื่องนั้นจะมาพร้อมกับธีม Facebook ในส่วนของ UI ทั้งหมด กระนั้นแล้ว HTC First ก็ยังคงไม่สามารถที่จะตีตลาดได้อย่างที่ทาง Facebook คาดหวังเอาไว้อยู่ดีทำให้ในที่สุดแล้วนั้นทาง Facebook เองก็ยอมแพ้กับการผลิต Facebook Phone ไปทำการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ดีกว่าเดิมแทน
หมายเหตุ – แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว Mark ผู้ก่อตั้ง Facebook เองก็ยังคงไม่ทิ้งความหวังไปซะทั้งหมดโดยไม่แน่ว่าในอนาคตนั้นเราอาจจะได้เห็นการกลับมาของ Facebook Phone อีกครั้งก็เป็นได้ฃ
54. CHATBOTS
ต่อกันที่สิ่งที่บริษัททางด้านเทคโนโลยีทั้งหลายอยากให้เราๆ ท่านๆ ลืมมันไปให้หมด โดยย้อนกลับไปในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงเวลาที่บริษัททางด้านเทคโนโลยีหลายบริษัทได้พยายามนำเสนอ chatbots หรือระบบตอบกลับผู้ใช้แบบอัตโนมัติ ซึ่งหลายๆ บริษัทนั้นใช้เจ้า chatbots เป็นตัวช่วยในการให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้า ความสามารถของ chatbots นั้นก็คือสามารถที่จะตอบกลับหรือให้ข้อมูลในสิ่งที่เราต้องการจะรู้ได้ ทว่าตัว chatbots เองนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขทั้งหมดลงได้ทำให้มันกลายเป็นเพียงสิ่งที่น่ารำคาญที่ผู้ใช้อยากจะข้ามการสนทนากับ chatbots ไปคุยกับมนุษย์จริงๆ
สำหรับ chatbots ที่เป็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนและมีการโต้ตอบกลับกับผู้คนอย่างกว้างขวางนั้นก็คือ Tay ซึ่งเป็น chatbots ที่เข้าสู่ระบบ Twitter โดยที่ตัวมันเองนั้นสามารถที่จะทำการเรียนรู้สิ่งที่ผู้ใช้คุยกับมันแล้วเอามาประมวลผลเพื่อใช้เป็นคำตอบให้กับผู้ใช้รายอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม Tay นั้นมีอายุการใช้งานใน Twitter จริงๆ เพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้นเนื่องจากว่าการโต้ตอบกลับของ Tay นั้นมีแต่ข้อความลามกและต่อต้านสังคมอย่างรุนแรง แน่นอนว่าเมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้แล้วนั้น Tay ก็ถูกดึงกลับไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาใหม่อย่างไม่มีกำหนดว่าเมื่อไรจะได้กลับมาเยือนโลกเราอีกครั้ง
หมายเหตุ – ในเมืองไทยนั้น chatbots ที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและมีผู้ใช้นิยมเล่นกันมากก็คงหนีไม่พ้นฟ้าใสและ Simsimi ที่ในช่วงแรกของการใช้งานนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจาก Tay เลยเพราะพี่ท่านมาพร้อมกับการตอบกลับที่ทั้งหยาบคายและส่อไปในเรื่องของเพศซะเป็นส่วนมาก ถึงแม้ว่าหลังๆ จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นมากกว่าเดิมแต่ความนิยมในการใช้งานก็ได้หมดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
53. GOOGLE DAYDREAM
ในชุดบทความนี้นั้นท่านจะได้เห็นผลิตภัณฑ์จากทาง Google อย่างมากมายโดยในอันดับที่ 53 นี้นั้นคือ Google Daydream ที่ในช่วงเปิดตัวออกมานั้นถือว่าน่าสนใจมากๆ กับการเป็นอุปกรณ์สำหรับการสร้างภาพเสมือนจริงที่รองรับการใช้งานร่วมกับระบบฎิบัติการ Android โดยลักษณะการใช้งานนั้นจะเหมือนกันกับ Samsung Gear VR อยู่พอสมควร ทว่าสิ่งที่ทำให้ Google Daydream นั้นไม่เป็นที่นิยมมากเท่าไรนักนั่นก็คือการที่ Google Daydream ขาดอุปกรณ์สำหรับทำการควบคุมซึ่งต้องใช้มือเปล่าๆ ในการควบคุมสั่งการเท่านั้น นอกไปจากนั้นแล้ว Google Daydream ยังมาพร้อมกับดีไซน์ที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีความสวยงามในการออกแบบเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ทาง Google พยายามที่จะผลักดัน Google Daydream นั้นได้มีหลายๆ บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนพยายามที่จะผลิตสมาร์ทโฟนให้รองรับกับระบบ Google Daydream นี้ ทว่าเมื่อเทียบกับปริมาณสมาร์ทโฟนที่มีการวางจำหน่ายในตลาดแล้วนั้น สมาร์ทโฟนที่รองรับ Google Daydream ถือได้ว่ามีจำนวนน้อยเป็นอย่างมากแถมแต่ละรุ่นนั้นยังมาพร้อมกับราคาที่แสนแพงอีกด้วยต่างหาก จุดที่ร้ายกว่านั้นก็คือแอปพลิเคชันที่รองรับ Google Daydream อย่างจริงจังนั้นก็เรียกได้ว่าสามารถนับจำนวนได้เลย(แถมในจำนวนนั้นก็มีหลายแอปพลิเคชันที่ขาดคุณภาพที่ดีในการใช้งาน) แน่นอนว่าในท้ายที่สุดแล้วนั้นทาง Google เองก็ได้นำเอาเจ้า Google Daydream ลงไปฟังในสุสานอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
52. SOPA AND PIPA
ไม่เพียงแค่เมืองไทยเราเท่านั้นที่มีการควบคุมการใช้งานทางด้านอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มรูปแบบ เพราะหากย้อนไปในช่วงปี 2012 แล้วนั้นที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเองนั้นก็ได้ประสบกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนออกมากับกฎหมาย SOPA และ PIPA ซึ่งตามขั้นตอนนั้นพบว่ากฎหมายดังกล่าวนี้นั้นเตรียมที่จะผ่านสถาคองเกรสแล้ว อย่างไรก็ตามถือว่าโชคยังเป็นของประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวสหรัฐที่มีผู้สายตากว้างขวางใน Reddit ได้ไปเห็นข้อมูลการนำเอากฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาคองเกรสซะก่อนจนทำให้ชาวอินเทอร์เน็ตทั้งหลายต่างออกมาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้กันอย่างกว้างขวางทำให้ในท้ายที่สุดแล้วนั้นกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ก็ถูกแช่แข็งไปโดยปริยาย
51. VERIZON GO90
บริการสตรีมมิ่งผ่านสมาร์ทโฟนนั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบริการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายอยากจะให้ผู้ใช้หันมาใช้มากที่สุดเพราะว่าผลตอบแทนนั้นก็คือการได้รับค่าลงทะเบียนรายเดือนที่เพิ่ทขึ้นจากค่าบริการปกติที่ผู้ใช้จะต้องทำการจ่าย โดยในปี 2015 นั้นทาง Verizon ผู้ให้บริการเครือข่ายของทางสหรัฐอเมริกาเองก็ได้ส่งบริการสตรีมมิ่งของตัวเองออกมากับชื่อว่า Go90 ทว่า ณ เวลานั้น Go90 จะมีสื่อที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคมมากกว่าสื่อที่เป็นหัวใจหลักๆ ที่จะเรียกผู้ใช้งานให้เสียค่าบริการรายเดือนได้อย่างเช่น Tumblr ท้ายที่สุดแล้วนั้นบริการ Go90 เองก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันและปิดตัวลง 3 ปีหลังจากที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
หากจะยกตัวอย่างในเมืองไทยนั้นก็จะมีบริการ AIS Play และ True ID ที่จะมีสื่อต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่ฟรีและผู้ใช้จำเป็นต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนเพิ่มเข้าไปในการเข้าถึงสื่อต่างๆ เหล่านั้น โชคยังดีของบริการทั้ง 2 ที่มีคู่ค้าระดับใหญ่อยู่ไม่ว่าจะเป็น Fox หรือ HBO ซึ่งแน่นอนว่าสามารถที่จะดึงลูกค้าให้ลงทะเบียนใช้งานได้เป็นอย่างมาก จะว่าไปแล้วนั้นตอนปี 2015 ทาง Verizon เองคงเดินเกมผิดไปนิดหน่อยทำให้ ณ เวลานั้นบริการ Go90 ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามทาง Verizon เองก็ได้เตรียมที่จะเปิดบริการดังกล่าวนี้อีกครั้งในชื่อใหม่โดยเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตด้วยการเป็นคู่ค้ากับทาง Disney+
50. ANDROID TABLETS
ในขณะที่ระบบปฎิบัติการ Android นั้นสามารถที่จะครองตลาดสมาร์ทโฟนในอันดับหนึ่งได้ ทว่ากลับกันแล้วนั้นทางด้านแท็บเล็ตระบบปฎิบัติการ Android กลับไม่สามารถที่จะสู่คู่แข่งอย่าง iPad ของ Apple ได้เลย โดยย้อนกลับไปในปี 2011 นั้นทาง Google ได้ร่วมกับ Motorola ในการเปิดตัวแท็บเล็ต Android เครื่องแรกในชื่อ Xoom ออกมา ทว่าด้วยราคาที่สูงมากนั้นทำให้มันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าทาง Google เองจะมีการพัฒนาระบบปฎิบัติการ Android สำหรับแท็บเล็ตโดยเฉพาะออกมาอย่าง Android 3.0 นั้นทว่าในการใช้งานจริงกลับกลายเป็นว่ามันไม่รองรับกับแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ของระบบปฎิบัติการ Android ทำให้ในช่วงแรกๆ นั้นแท็บเล็ตระบบปฎิบัติการ Android จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามเองทาง Google เองก็ไม่ได้ยอมแพ้ โดยหลังจากนั้นมาทาง Google ได้มีการเปิดตัวแท็บเล็ตระบบปฎิบัติการ Android รุ่นใหม่ที่ร่วมผลิตกับผู้ผลิตชั้นนำต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น ASUS Nexus 7 หรือ Samsung Nexus 10 ทว่าก็ยังคงไม่ได้รับความนิยมอยู่ดี ครั้นเมื่อทาง Google เริ่มมาทำฮาร์ดแวร์เองแล้วนั้นก็ได้มีการส่ง Nexus 9, Pixel C และ Pixel Slate ออกมาซึ่งแน่นอนว่ายังคงซ้ำรอยเดิมทำให้เราเห็นได้ว่าหากแท็บเล็ตที่มาพร้อมกับระบบปฎิบัติการ Android แบบเพียวๆ นั้นไม่สามารถที่จะตีตลาด iPad ได้จริง
ทั้งนี้ทั้งนั้นแท็บเล็ตระบบปฎิบัติการ Android เองก็ยังคงมีให้เราเห็นกันอยู่บ้างจากผู้ผลิตระดับใหญ่ๆ อย่าง Samsung และ Huawei ซึ่งสิ่งที่ผู้ผลิตทั้ง 2 ทำออกมานั้นแตกต่างไปจาก Google เป็นอย่างมากเพราะผู้ผลิตทั้ง 2 รายได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันและฟีเจอร์เสริมเพิ่มเข้ามาจนทำให้ยังสามารถที่จะทำยอดจำหน่ายได้เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะไม่สูงเท่ากับ iPad ก็ตาม
49. VINE
ปิดท้ายตอนที่ 3 กับอันดับที่ 49 อย่างสื่อสังคมออนไลน์ Vine ที่มีรูปแบบการให้บริการที่น่าสนใจในตอนแรกกับการให้ผู้ใช้ได้ทำการอัดคลิปความยาวไม่เกิน 6 นาทีเพื่อโพสเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ตามแต่แล้วนั้นทาง Vine เองต้องเจอกับคู่แข่งที่มาแรงและมียอดผู้ใช้จำนวนมากอยู่แล้วอย่าง Twitter ซึ่ง ณ เวลาใกล้ๆ กันทาง Twitter ได้เริ่มเปิดให้ผู้ใช้ทำการโพสลิงค์คลิปต่างๆ แล้วแสดงผลผ่านบนหน้าจอแอปพลิเคชันได้โดยตรง นอกไปจากนั้นแล้วยังต้องมาแข่งกับ Instagram เข้าไปอีกทำให้ Vine นั้นมีความนิยมลดลงเรื่อยจนในที่สุดในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมานี้ก็ต้องทำการปิดตัวอย่างเป็นทางการไปตามระเบียบ
ที่มา : theverge