การจะประกอบพีซีขึ้นสักชุดหนึ่ง คงต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องยาก หากเราเข้าใจในอุปกรณ์และเลือกที่จะจับคู่แต่ละชิ้นมาใช้งานร่วมกัน สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องสำคัญเลยก็คือ เมนบอร์ดที่เป็นเหมือนหัวใจสำคัญในการประกอบชิ้นส่วนอื่นๆ เข้าไป
สำหรับเมนบอร์ด ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ มองง่ายๆ เลย ไม่ว่าจะเป็น Intel หรือ AMD ก็ตาม ต่างก็ดีไซน์กล่อง ให้มีรายละเอียด ที่บ่งบอกถึงสเปกและคุณสมบัติต่างๆ ของเมนบอร์ดแต่ละรุ่นเอาไว้แล้ว ซึ่งบางครั้งแค่มองหน้ากล่องก็พอทราบได้เลยว่า เป็นเมนบอร์ดรุ่นไหน สำหรับซีพียูอะไร และมีฟีเจอร์พิเศษใดบ้าง
เพียงแต่ว่า เนื่องจากปัจจุบัน มีการทับซ้อนของชิปเซ็ตและแพลตฟอร์ม ซึ่งก็อาจจะทำให้ผู้ใช้บางคนสับสนในการเลือกใช้เมนบอร์ดและซีพียูได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมนบอร์ดซ็อกเก็ต LGA1151 ที่ในเวลานี้ มีให้เลือกทั้งซีพียู Intel Gen 7 และ Gen 8 หรือตัวเลขระบุชิปเซ็ตที่ใกล้เคียงกัน ก็อาจผิดพลาดได้ เช่น Intel Z370 กับ AMD X370 เป็นต้น ตรงจุดนี้ ก็ต้องใส่ใจดูในรายละเอียดเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจากหน้ากล่อง: ในเบื้องต้นดูจากหน้ากล่องให้ ส่วนใหญ่เราก็จะเห็น ข้อมูลที่ผู้ผลิตแจ้งมาให้ทราบ ทั้งชื่อรุ่นและซีรีส์ รวมถึง การสนับสนุนซีพียู เช่น
ตัวอย่าง: ASRock AB350 Gaming-ITX/ ac สามารถแยกส่วนออกมาได้ดังนี้
- ASRock: ชื่อผู้ผลิต
- AB350: ชิปเซ็ต AMD B350
- Gaming: ซีรีส์ของเมนบอร์ด ระบุไว้สำหรับ การเล่นเกม
- ITX: มาตรฐานแพลตฟอร์ม ITX ส่วนถ้าเป็น ATX มักจะไม่ระบุข้อมูลมาให้
- /ac: หมายถึง มาพร้อมโมดูล WiFI ในมาตรฐาน 802.11ac
GIGABYTE Z370M D3H สามารถแยกส่วนออกมาได้ดังนี้
- GIGABYTE: ชื่อผู้ผลิต
- Z370: ชอปเซ็ต Intel Z370
- M: มาตรฐานแพลตฟอร์ม mATX
- D3H: ที่ต่อจากท้ายชื่อรุ่น เป็นส่วนขยายรายละเอียดของแต่ละรุ่น เช่น Ultra Durable, Dual BIOS หรือฟีเจอร์อื่นๆ
คราวนี้เราลองมาดูข้อมูลจาก Label ที่แปะอยู่หน้ากล่อง เมนบอร์ด GIGABYTE Z370M D3H
- บรรทัดแรก >> Intel Z370/Socket 1151/rev.1.0 แยกออกเป็น Intel Z370 [ชิปเซ็ต Intel Z370]/Socket 1151 [ซ็อกเก็ต 1151]/rev.1.0 [เวอร์ชั่น 1.0]
- บรรทัดที่สอง >> Support 8th Gen Intel Core Processor แยกออกเป็น Support 8th Gen Intel Core Processor [สนับสนุนซีพียู Intel Core Gen8]
- บรรทัดที่สาม >> 4 DDR4 2-CH/PCI-E x16/ Micro ATX แยกออกเป็น 4 DDR4 2-CH [รองรับ DDR4 จำนวน 4 สล็อต ในแบบ Dual-channel]/PCI-E x16 [มีสล็อต PCI-Express x16]/ Micro ATX [เป็นเมนบอร์ดมาตรฐาน mATX]
- บรรทัดที่สี่ >> USB3.1 GEN 1/M.2 socket แยกออกเป็น USB3.1 GEN 1 [รองรับ USB3.1 Gen1]/M.2 socket [มีซ็อกเก็ต M.2]
- บรรทัดที่ห้า >> 3 TYPE-C/ 7.1-CH HD Audio/ GbE LAN แยกออกเป็น 3 TYPE-C [สนับสนุน USB Type-C 3 ช่อง]/ 7.1-CH HD Audio [รองรับระบบเสียง 7.1 แชนแนล]/ GbE LAN [สนับสนุน Gigabit LAN]
อีกจุดหนึ่งคือ ด้านหลังของกล่อง มักจะเป็นส่วนที่ทางผู้ผลิตใส่ข้อมูลคุณสมบัติต่างๆ บนเมนบอร์ดในรุ่นนั้นๆ มาให้ได้พิจารณากัน พร้อมรูปภาพเสร็จสรรพ เรียกว่าแทบไม่ต้องแกะกล่องออกมาดู ซึ่งจะมีมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดรุ่นนั้น เป็นรุ่นธรรมดาหรือพิเศษ เช่น บางรุ่นเป็นแบบ เกมเมอร์ โอเวอร์คล็อกหรือเป็นกลุ่มไฮเอนด์ ก็มักจะมีฟีเจอร์พิเศษเพิ่มเติมมาให้อีกด้วย ลองดูจากเมนบอร์ดตัวอย่างรุ่นนี้
และตามที่เกริ่นไว้ในเบื้องต้นปัจจุบันมีชิปเซ็ตมากมายออกมา และยังมีตัวเลขที่คล้ายคลึงกัน นั่นอาจทำให้เกิดความสับสนในการเลือกซื้อได ดังนั้นอาจจะต้องสังเกตให้ดี เพื่อไม่ให้ซื้อมาผิด
Intel Platform
- Intel 100 series > Z170, H170 และ B150 ซ็อกเก็ต LGA1151 สำหรับซีพียู Intel Core Gen6
- Intel 200 series > Z270, H270 และ B250 ซ็อกเก็ต LGA1151 สำหรับซีพียู Intel Core Gen6 และ Gen7
- Intel 300 series > Z370 ซ็อกเก็ต LGA1151 สำหรับซีพียู Intel Core Gen8 (เท่านั้น)
- Intel X299 series > X299 ซ็อกเก็ต LGA2066 สำหรับซีพียู Intel® Core X-Series
- Intel X99 series > X99 ซ็อกเก็ต LGA2011-3 สำหรับซีพียู Intel® Core i7 และ Xeon
AMD Platform
- AMD X399 series > X399 ซ็อกเก็ต TR4 สำหรับซีพียู AMD Ryzen Threadripper
- AMD 300 series > X370, B350 และ A320 ซ็อกเก็ต AM4 สำหรับซีพียู AMD Ryzen และ Ryzen Raven Ridge 200 series (w/Vega APU) รวมถึง A-series
ตามไปจัดสเปกพีซี ประกอบคอม ได้ที่ notebookspec.com/pc/spec