โน๊ตบุ๊คในแต่ละเครื่องแน่นอนว่าก็ต้องมีหน้าจอที่ใช้สำหรับแสดงผล ซึ่งปัจจุบันที่สามารถพบได้ทั่วไปจะเป็นขนาดหน้าจอ 11-18 นิ้ว ส่วนความละเอียดก็จะมีตั้งแต่ 1366 x 768 พิกเซล(HD) จนถึงขนาดความละเอียด 3840 × 2160 พิกเซล(4K) โดยในแต่ละรุ่นยังแบ่งแยก Panel อีกว่าเป็น Panel อะไร เช่น TN, VA หรือ IPS ซึ่งแต่ละแบบก็จะข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป และในบทความนี้เราจะทำความรู้จักกับ Panel ต่างๆ เบื้องต้นกันบ้างดีกว่าครับแต่ละอย่างมีคุณสมบัติเป็นอย่างไรบ้างโดยเริ่มจาก
Panel TN
หรือชื่อเต็มว่า Twisted Nematic + Film เป็นประเภทของ LCD Panel ที่มีการผลิต และใช้งานอย่างแพร่หลายที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ และความสามารถในการตอบสนองของการเปลี่ยนสี (Response time of color transitions) ที่รวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยง Effects อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น Shadow trails และ Ghosting artifacts
ข้อดี
- มีการตอบสนองของภาพ Response Time ที่รวดเร็วที่สุด เหมาะสำหรับเกมเมอร์ที่ต้องการความฉับไวของการแสดงผล
- ต้นทุนการผลิตไม่แพงมาก
- Refresh Rate สูงสุดที่ 240 Hz ใช้แล้วสบายตาที่สุด (ถ้ารับสเปคขับถึงรับรองว่าจะกลับไปใช้จอ 60 Hz ไม่ได้เลย)
ข้อเสีย
- สีเพี้ยนง่าย เช่น มองมุมซ้ายจากเดิมเป็นดำสนิท พอไปนั่งมุมอื่นๆ กลับกลายเป็นสีออกเทาๆ
- มุมมองแคบมาก เช่น ถ้าเรามองตรงๆ ที่กลางจอ จะเห็นภาพและสีที่คมชัดที่สุด แต่ถ้าหากมองจากด้านข้างภาพก็จะไม่ชัดเหมือนมองจากตรงกลาง
- ความสว่างของจอน้อยที่สุด
VA Panel
หรือชื่อเต็มว่า Vertical Alignment เริ่มต้นถูกพัฒนาขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อผลิต Panel ที่รวบรวมข้อดีของ TN กับ IPS เข้าด้วยกัน แรกเริ่มที่พัฒนานั้น VA มี Response Time ที่ค่อนข้างดี มุมมอง (Viewing angle) ที่กว้าง และคอนทราสต์ที่สูง ในขณะที่ความสว่าง (Brightness) และความสามารถในการแสดงสีสมจริงทำได้ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งมีเพียงโน๊ตบุ๊คไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่ใช้ Panel VA
ข้อดี
- เป็นลูกผสมระหว่าง TN และ IPS มาผสมกัน ทำให้มีมุมมองที่กว้างพอสมควร
- การแสดงสีที่ค่อนข้างตรงกว่า TN
ข้อเสีย
- แม้มุมมองจะดีขึ้น แต่มุมมองก็ไม่กว้างเท่า IPS อยู่ดีครับ เมื่อมองผิดมุมสีมีเพี้ยนสูงพอๆ กับ TN
- มีรุ่นให้เลือกน้อยมากและไม่เป็นที่นิยมนัก แม้แต่ในหมู่ผู้ผลิตจอภาพ
IPS Panel
มีชื่อเต็มๆ ว่า In-Plane Switching หน้าจอแบบ IPS เกือบทั้งหมดสนับสนุนการแสดงสีแบบ 8 bit (True color) เป็นอย่างต่ำ ซึ่งการปรับปรุงเหล่านี้ทำได้สีที่สมจริงที่สุด และมีมุมมองกว้างขึ้น แต่ก็นำมาซึ่ง Response Time ที่สูงขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญการผลิต IPS Panel มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้มีเพียงโน๊ตบุ๊คที่ใช้สเปคระดับสูงเท่านั้นถึงจะได้จอระดับนี้ไปใช้
ข้อดี
- มุมมองกว้างที่สุด สูงสุดที่ 178 องศา
- ให้ความละเอียดสีที่ตรงที่สุด
- เหมาะนำมาทำงานด้านกราฟฟิค หรืองานอื่นๆ ที่ต้องใช้การดูสีที่ตรง
- ให้ความสว่างที่สูงที่สุด
ข้อเสีย
- มีใช้ในโน๊ตบุ๊คที่ใช้สเปคระดับสูงเท่านั้น
- การตอบสนองของจอช้าที่สุด จึงไม่ค่อยเหมาะนำมาเล่นเกมนัก
- มี Refresh Rate มาตรฐานที่ 60 Hz เท่านั้น ถ้าเฟรมเรทเกมที่ทำได้มากกว่า 60 fps ก็ไม่มีประโยชน์
ก่อนจากกันหากใครหาซื้อโน๊ตบุ๊คสักรุ่นในปี 2017 แล้วละก็ ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าว่าถ้า หากเลือกโน๊ตบุ๊คที่ใช้จอตั้งแต่ 15.6 นิ้วขึ้นไป ควรเลือกความละเอียดหน้าจอเป็น Full HD หรือ 1920 x 1080 เป็นอย่างน้อย เพราะ ไฟล์ฟอร์เมตต่างๆ ได้รับการพัฒนามาค่อนข้างมาก อีกทั้งเทคโนโลยีก็ก้าวกระโดดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากจอ 15.6 นิ้วยังความละเอียดแค่ HD อยู่ภาพที่แสดงผลก็จะไม่เนียนตาเท่าไร หรือจะเห็นเม็ดพิกเซลแตกๆ อยู่เอง
ส่วนหากใครที่คิดว่าจอ Panel TN ให้ภาพสีเพี้ยน ไม่ชัดสู้ IPS ไม่ได้ ขอบอกว่าคุณต้องลองไปดูด้วยตาตัวเองก่อน เพราะ Panel TN ในตอนนี้ได้รับการพัฒนามาค่อนข้างมาก ทั้งในด้านของมุมมองภาพและสีสัน ซึ่งถ้าถามว่าพอสู้ IPS ได้ไหม ก็ต้องตอบว่ายังสู้ไม่ได้ แต่ก็ภาพที่ได้ก็ไม่ได้หน้าเกลียดอะไรหรือใครไม่ได้จริงจังเรื่องสีเพี้ยนนัก แล้วกำลังช่างใจจะซื้อโน๊ตบุ๊คสักเครื่องไว้เล่นเกม แนะนำใช้ Panel TN เถอะครับรองรองไม่ผิดหวังแน่นอน